วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยแล้วก็ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น สิ่งที่เราต้องตระหนักสำหรับโรคไข้เลือดออกก็คือ ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษา ดังนั้นการจะต่อสู้กับโรคนี้ต้องต่อสู้ในเชิงป้องกัน หลังจากที่รอคอยมานานนั้น ล่าสุด “วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก” ได้ถูกนำมาใช้แล้วในหลายๆประเทศ และกำลังจะนำมาใช้ ในประเทศไทยครั้งแรกที่โรงพยาบาลสมิติเวชนี่เอง เราจึงขอนำทุกท่านมาติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกและวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกันเลยดีกว่า
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียนสถานการณ์และความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ
3 – 4 ปีก่อนจนถึงปัจจุบันเราพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากตัวเลขในปีที่ผ่านมาเราพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมากกว่า
หนึ่งแสนสี่หมื่นกว่ารายในประเทศไทย สำหรับปี 2559 นี้เราพบว่าช่วงต้นปียังคงพบผู้ติดเชื้อมากอยู่
แต่ก็มาเริ่มลดลงในช่วงกลางปี
พอมาถึงช่วงปลายปีนี้โรคไข้เลือดออกก็เริ่มกลับมาใหม่
จากตัวเลขล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วอยู่ที่ 58,555 ราย มีผู้เสียชีวิตจากจำนวนผู้ติดเชื้อนี้อยู่ที่ 57 ราย คิดเป็น 0.1 % จากตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเดียวกันถือว่าปีนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกน้อยลงกว่าปีที่แล้ว
ถึงแม้เราจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกลดลงก็ตาม แต่สิ่งที่สวนทางกลับมาก็คือ
เราพบว่าโรคไข้เลือดออกกลับอยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากขึ้น เมื่อก่อนเรามักจะเห็นว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดจะมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกมากกว่าคนอยู่ในเมืองหรืออยู่ในกรุงเทพ
ฯ แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว กรุงเทพ ฯ
กลับกลายเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีอัตราเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไข้เลือดออกเป็นอันดับต้น
ๆ ของประเทศเลยทีเดียว จากตรงนี้เราจึงบอกได้เลยว่าถึงอย่างไรโรคไข้เลือดออกก็ยังเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและต้องให้ความสำคัญอยู่เสมอ
จะเฝ้าระวังได้ดีก็ต้องรู้จักโรคไข้เลือดออกให้ดียิ่งขึ้นก่อน
อย่างที่ทราบกันโรคไข้เลือดออกนั้นมีสาเหตุมาจาก
ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อันมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
ช่วงที่โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก ๆ จะเป็นช่วงหน้าฝน คือเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน
ไวรัสเดงกี่มีอยู่ 4 สายพันธุ์
ซึ่งประเทศไทยเรานั้นมีระบาดอยู่ครบทั้ง 4 สายพันธุ์เลยทีเดียว
การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก
อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อคหรือเสียชีวิต
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราหรือคนใกล้ชิดเสี่ยงกับโรคไข้เลือดออก
สิ่งที่เราต้องทำก็คือเฝ้าสังเกตอาการคนใกล้ชิด
อาการของโรคไข้เลือดออกจะพบว่ามีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
ปวดกล้ามเนื้อ
ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวและปวดลึกไปถึงกระดูกมีความรู้สึกปวดมากเหมือนกระดูกจะแตกเลยทีเดียว
ทางการแพทย์เรียกอาการปวดลักษณะนี้ว่า Break Bone ซึ่งถ้าเป็นไข้แบบปกติทั่วไปจะไม่มีอาการลักษณะนี้
ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน บางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสเป็นไข้เลือดออก
ทั้งนี้ทางที่ดีผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
หากนิ่งนอนใจไม่ส่งโรงพยาบาลโรคก็จะเคลื่อนไปยังระยะต่อไปที่รุนแรงมากขึ้นจากมีไข้สูงบางรายอาจจะมีจุดเลือดสีแดงออกตามลำตัว
แขนขา เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ
โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด และตามมาด้วยอาการตับโต
เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตจนทำให้ผู้ป่วยช็อคและเสียชีวิตในที่สุด
แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก
เมื่อก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร
โรคไข้เลือดออกสิ่งที่น่าวิตกของโรคนี้ก็คือ
ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง
การรักษาโรคนี้จึงต้องเป็นการรักษาแบบตามอาการ มีการตรวจเลือดเป็นระยะ ให้เกลือแร่
ให้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลและงดใช้ยากลุ่มแอสไพริน เรียกได้ว่าในอดีตและปัจจุบันการรักษาไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก
แต่สำหรับปัจจุบันจะดีกว่าตรงที่ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จึงทำให้เราสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลงได้บ้าง จากตรงจุดนี้จึงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการรับมือโรคไข้เลือดออกมาขึ้น
ปัจจุบันจึงมีการศึกษาและพยายามที่จะนำแนวคิดใช้การป้องกันเป็นการรักษาโรคนี้แทน
โดยได้มีการวิจัยร่วมจากประเทศแถบเอเชีย คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
มาเลเซียและไทย และประเทศแถบละตินอเมริกา (บราซิล โคลอมเบีย ฮอนดูรัส เม็กซิโก)
สุดท้ายเราจึงได้นวัตกรรมการรักษาที่เป็นข่าวดีมาก ๆ นั่นคือการค้นพบ “วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก” นั่นเอง
ความน่าสนใจของวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
จากการวิจัยร่วมของ
5 ประเทศ
นำไปสู่การพัฒนาต่อจนได้เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีชื่อเป็นทางการว่า
“เด็งวาเซีย” (Dengvaxia) ซึ่งบริษัทผู้ผลิตนั้นเป็นบริษัทของฝรั่งเศส
วัคซีนนี้ผลิตขึ้นมาจากไวรัสที่มีชีวิตและถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว
จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโรคไข้เลือดออก
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบกับอาสาสมัครกว่า 3 หมื่นกว่าราย
ใน 2 ทวีปมาแล้ว และผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าพอใจ
เรียกว่าเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์
แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ 100% เสมอไป
จากผลการศึกษาพบว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเด็งวาเซียนี้มีประสิทธิภาพ
คือสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
93.2 % ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล
80.8 % และความสามารถในการป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง
4 สายพันธุ์อยู่ที่ 65.6 % คือประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในแต่ละสายพันธุ์นั้นจะแตกต่างกันออกไป
ซึ่งเราพบว่าสายพันธุ์ที่ 4 จะตอบสนองกับวัคซีนตัวนี้ได้ดีที่สุด
ส่วนสายพันธุ์ที่ 2 จะตอบสนองกับวัคซีนนี้ได้น้อยที่สุด
ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกันทั้งเรื่องของอายุ
วัคซีนนี้จะได้ผลดีในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 9 ขวบ
ไปถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี ประวัติของการได้รับเชื้อของคนไข้
จากการศึกษาเราพบว่าผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อนจะตอบสนองกับวัคซีนตัวนี้ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยเป็น
หรือไม่เคยได้รับเชื้อไข้เลือดออกและอีกปัจจัยก็คือชนิดของสายพันธุ์ไข้เลือดออกที่เป็นนั่นเอง
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกฉีดได้ทุกคนหรือไม่
จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
(WHO) ชี้แจงว่าผู้ที่เหมาะสมเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
คือ ผู้มีอายุระหว่าง 9-45 ปี
ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค
ยังไม่ได้แนะนำว่าควรที่จะฉีดวัคซีนนี้ทุกคน
แต่จากคำแนะนำนี้ก็เท่ากับว่าคนไทยเราในช่วงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เหมาะสมที่จะเข้ารับวัคซีนชนิดนี้
เพราะไทยเราเป็นโซนที่มีโรคไข้เลือดออกระบาด ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะฉีดทั้งหมด 3
เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน หลังฉีดครบ 3 เข็ม
ตามหลักวิชาการภูมิคุ้มกันจะยังคงอยู่ได้ แต่ต้องมีการติดตามกันไปเรื่อยๆว่าจะสามารถคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหรือไม่
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนกันไป ส่วนกลุ่มคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
รับประทานยากดภูมิ กำลังได้รับยาเคมีบำบัด มีเชื้อ HIV หญิงตั้งครรภ์
หญิงที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรรับวัคซีนตัวนี้
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีผลข้างเคียงหรือไม่
จากการศึกษาเราพบว่าวัคซีนชนิดนี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้างแต่ก็ไม่รุนแรงอะไรและเกิดได้น้อยมาก
เมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะและมีไข้ได้ กลุ่มนี้อาจพบได้ 1 ใน 10 บางคนอาจมีอาการมีเวียนหัว ไอ เจ็บคอ
มีผื่นคัน กลุ่มนี้ก็พบได้น้อยลงไปอีก อยู่ที่ 1 ใน 100
ส่วนถ้ารุนแรงกว่านั้น คือ มีผลต่อระบบประสาทนี่เรียกว่าน้อยมาก ๆ
มากกว่าอัตรา 1 ใน 10,000 แต่จากรายงานจนถึงปัจจุบันยังไม่มีพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าวเลย
จากข้อมูลตรงนี้เราจึงสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้ค่อนข้างที่จะปลอดภัยสิ่งที่น่ายินดีก็คือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้มาถึงประเทศไทยแล้ว ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามจากทางโรงพยาบาลได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และศรีนครินทร์ โทร.020-222-222
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น