วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

Tennis Elbow อาจไม่ใช่คำตอบของอาการปวดข้อศอก

Tennis Elbow อาจไม่ใช่คำตอบของอาการปวดข้อศอก




เวลาพูดว่าปวดข้อศอก โดยทั่วไปแล้วคนส่วนมากหรือแม้กระทั้งแพทย์ที่ดูแลรักษา มักจะนึกถึงอาการปวดจาก Tennis elbow แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดข้อศอกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากเยื่อหุ้มข้อศอกอักเสบ เส้นเอ็นที่ (Tendinosis or Tendinitis) เกาะกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกอักเสบ (synovitis) หรือเกิดการบาดเจ็บร่องรอยของโรค บริเวณผิวข้อศอกหรือกระดูกอ่อน (cartilage Lesion) เป็นต้น หรือในบางครั้งอาการปวดข้อศอกอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากข้อศอกโดยตรง แต่เป็นการปวดร้าวมาจากบริเวณไหล่ ต้นคอ จนทำให้ปวดมาถึงข้อศอกก็เป็นได้ ดังนั้นการตรวจค้นหาที่เหมาะสมก็จะช่วยให้หาสาเหตุการปวดได้ครอบคลุม
การตรวจวินิจฉัยแยกโรคของอาการปวดที่เกิดจากข้อศอก สามารถแยกโดยใช้ตำแหน่งที่ปวดเป็นตัวช่วย ถ้าเป็นอาการปวดที่เกิดจากภาวะเสื่อมของเส้นเอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อด้านในของข้อศอกที่พบได้บ่อยและได้รับการวินิจฉัยบ่อยก็ดังเช่น Golfer Elbow แต่ก็เช่นกัน มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา เจ็บด้านในข้อศอกที่ได้รับการวินิจฉัย ส่วนอาการปวดที่เกิดด้านนอกของข้อศอกจะเรียกว่า Tennis Elbow ก็ต้องมาแยกโรคหรือสาเหตุอื่นๆด้วยเช่นกัน

ปวดแบบไหน เกิดกับวัยใด

อาการปวดข้อศอกพบได้กับทุกช่วงวัย การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องชัดเจนจะทำให้ได้รับการรักษาคาดที่หวังผลได้ดีขึ้น ส่วนการตรวจวินิจฉัยโดยต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ตำแหน่งบริเวณปวด อายุ อาการ สัมพันธ์กับกิจกรรมที่คนๆ นั้นทำเป็นประจำ
ในเด็ก อายุประมาณ 10-20 ปี เรามักจะเบนความสนใจไปที่ผิวข้อ โดยอาจเกิดการบาดเจ็บของผิวข้อ เกิดการแตกของผิวข้อ หรือหน่อเจริญกระดูกบาดเจ็บ ซึ่งมักสัมพันธ์กับการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ใช้แร็คเก็ตเป็นหลัก เช่น เทนนิส กอล์ฟ แบดมินตัน เป็นต้น
ในผู้ใหญ่ วัยกลางคน 40 ต้นๆ โดยเฉพาะคุณผู้หญิง มักปวดเพราะเกิดจากภาวะเสื่อมของเส้นเอ็น สัมพันธ์กับการใช้งานทั่วไป เช่น งานบ้าน ที่เป็นงานซ้ำๆ สำหรับผู้ชายมักสัมพันธ์กับการเล่นกีฬา เช่น เทนนิส กอล์ฟ เป็นต้น
ในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ที่ค่อนข้างใส่ใจในสุขภาพ เข้าฟิตเนส เล่นกีฬา การบาดเจ็บส่วนใหญ่จึงมาจากการออกกำลังกาย การใช้งานข้อศอกมากเกินไปทำให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบ หรือเกิดภาวะเยื่อพังผืดในข้ออักเสบกดเบียดทับ (Plica)
ส่วนในกลุ่มผู้สูงวัย อาการปวดมักเกิดจากภาวะเสื่อม เส้นที่เกาะของเส้นเอ็นเสื่อม หรือเป็นผลจากการบาดเจ็บในอดีตทำให้ข้อเสื่อม หรือมีเศษผิวข้อแตกในข้อแล้วไม่รู้ตัว หรือภาวะแง่งกระดูกโตแล้วเกิดแตก ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้

ปวดข้อศอกต้องรักษาอย่างไร

การรักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ต้องผ่าตัด และไม่ต้องผ่าตัด โดยมากจะเริ่มจากการไม่ผ่าตัดก่อน โดยให้ทานยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ประคบ ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ เพื่อฝึกความยืดหยุ่นของข้อ หรือออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายเฉพาะกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ หรือการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาการปวดได้เร็ว แต่ควรจะใช้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ปวดมาก ปวดจนนอนไม่ได้ ปวดจนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาวไม่ได้ทำให้โรคหาย แต่อาจทำให้มีปัญหาตามมาได้ เช่น เนื้อเยื่อ หรือไขมัน เหี่ยวลง ผิวหนังเปลี่ยนสีบริเวณที่ฉีด ทำให้เอ็นเปื่อยหรือฉีกขาดได้ง่าย
ในกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอนุรักษ์นิยมเต็มที่แล้ว หรือปวดต่อเนื่องนานเกิน 3-6 เดือนขึ้นไป อาการปวดนั้นรบกวนต่อการทำกิจกรรม อาชีพ กิจวัตรประจำวัน อาการปวดส่งผลต่อมุมในการขยับข้อศอกแย่ลงเรื่อยๆ จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันเป็นแบบ MIS (Minimal Invasive Surgery) คือการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้เกิดการรบกวนกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อศอกลดลง อีกทั้งยังสามารถวินิจฉัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย เช่น หากวินิจฉัยแล้วว่าเป็น Tennis elbow แต่เมื่อผ่าไปแล้วอาจพบภาวะอื่นซ้อนอยู่เช่น ผิวข้อแตก ก็สามารถทำการรักษาได้ในคราวเดียวกันเลย MIS ถือเป็นการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถวินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย

ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ปวดศอก

การเลือกใช้อุปกรณ์การเล่นกีฬามีส่วนสำคัญ หากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กำข้อมือ เช่น แร็กเก็ต ต้องเลือกขนาดที่เหมาะสม เด็กต้องใช้ของเด็ก ผู้ใหญ่ต้องใช้ของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ เพราะมีผลต่อการเกร็งของกล้ามเนื้อ ควรปรับปรุง ดัดแปลงอุปกรณ์การใช้งานต่างๆ ให้เหมาะสมกับมือผู้ใช้งาน เช่น พันผ้าด้ามไขควง ด้ามค้อน เพื่อช่วยให้เส้นรอบวงมีความเหมาะสมกับมือ เพื่อลดแรงที่จะกระทำกับข้อศอก หมั่นศึกษาเทคนิคการฝึกการออกำลังกายที่ถูกต้อง เช่น วิธีการจับไม้แร็กเก็ต การเลือกขนาด การเลือกความตึง ฯลฯ เพื่อลดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา แต่ถ้าในกรณีที่มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ควรพักการใช้งานของข้อศอก และดูแลโดยการประคบ ทานยา ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต่อการพักครั้งหนึ่งนานเกิน 2-4 สัปดาห์แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

รศ.นพ. ชลวิช จันทร์ลลิต

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
หนังสืออนุมัติผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ปี พ.ศ.2547
สาขาออร์โธปิดิกส์ สาขาออร์โธปิดิกส์

โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222

Facebook : Samitivej Club



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น