เมื่อ…ต้องตัดมดลูก
“หากต้องตัดมดลูกเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนต้องคิดหนัก” เพราะมดลูกทำหน้าที่ในการรองรับการตั้งครรภ์ ถ้าต้องตัดมดลูกทิ้ง ก็เท่ากับตัดโอกาสการมีลูกทิ้งไปด้วยเช่นกัน แต่บางครั้งการตัดมดลูกก็มีความจำเป็น
ทำไมต้องตัดมดลูก
เหตุผลที่ทำให้คุณผู้หญิงต้องตัดสินใจตัดมดลูกทิ้งมาจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ ตัดมดลูกเพื่อการรักษาโรคของตัวมดลูกเอง กับการตัดมดลูกเพื่อเป็นการป้องกันโรค แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนคงปวดใจคุณผู้หญิงทั้งนั้นตัดเพื่อการรักษา
- เนื้องอกในมดลูก
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีอาการ
หรืออาจมีอาการที่เกิดขึ้นจากก้อนเนื้องอก เช่น ปวดท้อง ประจำเดือนมามาก
ปวดประจำเดือน บางรายเนื้องอกอาจโตไปกดกระเพาะปัสสาวะหรือกดทับลำไส้ใหญ่ทำให้มีปัญหาในการขับถ่าย
จึงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการตัดมดลูกออก
- มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น
มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็งท่อนำไข่ หรือมะเร็งรังไข่
- ประจำเดือนมามาก
การที่มีประจำเดือนมามากในผู้หญิงบางรายอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินชีวิต
มีปัญหาในเชิงสุขภาพ การรักษาภาวะประจำเดือนมามากสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การรับประทานยา การใส่ห่วงอนามัยที่บรรจุฮอร์โมน แต่อย่างไรก็ตาม
หากการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล การตัดมดลูกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา
- มดลูกหย่อน โดยส่วนใหญ่แล้ว
การเกิดมดลูกหย่อนมักจะพบในผู้หญิงที่มีอายุมาก
ซึ่งอาจผ่านการคลอดบุตรมาหลายคนหรือในช่วงวัยหมดประจำเดือน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เนื้อเยื่อที่พยุงมดลูกเริ่มอ่อนแอลง
บางคนหย่อนถึงขั้นหลุดลงมาที่ช่องคลอด บางครั้งก็เกิดแผลกดทับร่วมด้วย
สร้างความรำคาญในชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องตัดทิ้ง
- ผ่าตัดมดลูกฉุกเฉินหลังคลอดในบางครั้งการคลอดที่ต้องผ่านกระบวนการมานาน
เป็น 10 ชั่วโมง ทำให้มดลูกต้องบีบตัวมานาน
จนทำให้หมดแรงไม่สามารถบีบตัวกลับไปได้ หรือเกิดภาวะรกรอกตัวก่อนกำหนด
มีผลต่อกล้ามเนื้อมดลูกไม่สามารถหดกลับไปได้ ทำให้มีเลือดออกมาก
อาจทำให้ช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้ง
ตัดเพื่อการป้องกันโรค
การตัดมดลูกเพื่อเป็นการป้องกันโรค เช่น ป้องกันการลุกลามจากมะเร็งรังไข่ การตรวจทางยีนที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งของมดลูก หรือโรคยอดฮิตของคุณผู้หญิง อย่างโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงก็จริง แต่ความรุนแรงของอาการอาจมีได้หลายระดับ บางคนอาจปวดท้องเล็กน้อย แต่บางคนอาจปวดจนไม่เป็นอันทำอะไร ส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก หรือในบางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังจากการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน พังผืดรัดตัวมดลูกและท่อนำไข่หากผู้ป่วยยังต้องการมีบุตรอยู่ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์เนื้อเยื่อที่ผิดปกติและเลาะพังผืดที่ผิดปกติออกไป แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง แต่ถ้าในรายที่มีอาการรุนแรง เลือดออกไม่หยุด หรือผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้วแพทย์จะพิจารณาตัดรังไข่และมดลูกออก เพื่อตัดปัญหาการกลับมาเป็นซ้ำไปเลย
ตัดมดลูกมีกี่แบบ
แบบตัดมดลูกออกทั้งหมด คือการผ่าตัดเอาทั้งปากมดลูกและตัวมดลูกออกทั้งหมด ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายที่สุดในประเทศไทย หลังจากผ่าตัดเอามดลูกออกมาแล้วจึงเย็บแผลด้านในช่องคลอดเข้าหากัน
แบบตัดเฉพาะตัวมดลูกออกโดยไม่ตัดปากมดลูก การผ่าตัดแบบนี้จะตัดเอาเฉพาะตัวมดลูกที่เป็นโรคหรือผิดปกติออกไป เนื่องจากการผ่าตัดเอาปากมดลูกออกยากและอาจมีอันตรายต่ออวัยวะข้างคียงหรือต้องการอนุรักษ์ปากมดลูกที่ปกติไว้ โดยทั่วไปไม่มีแผลในช่องคลอด ฉะนั้นหลังผ่าตัดช่องคลอดจึงยังคงเหมือนเดิม แต่แบบนี้ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก
ตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน เป็นการผ่าตัดทั้งมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ รวมทั้งตัดเนื้อเยื่อรอบๆ มดลูกรวมถึงต่อมน้ำเหลืองออกไปด้วย การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม มะเร็งรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้เยื่อบุช่องท้องออกไปด้วย
วิธีการผ่าตัด
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
สามารถผ่าตัดมดลูกเพื่อรักษาผู้ป่วยทุกประเภท
แต่เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่จึงเจ็บแผลมากกว่า
ระยะพักฟื้นนานกว่าการเสียเลือดมากกว่า และมีโอกาสบาดแผลติดเชื้อสูงกว่า
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดปัจจุบันถือเป็นทางเลือกที่แนะนำให้พิจารณาเป็นลำดับแรก
เพราะไม่มีแผลหน้าท้อง เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวเร็ว
เหมาะสำหรับผู้ที่มีมดลูกหย่อนและมีขนาดไม่โตมากนัก
แต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ปีกมดลูกร่วม
เพราะทำการผ่าตัดค่อนข้างยากและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น
- การผ่าตัดผ่านกล้อง
โดยทั่วไปแพทย์จะเจาะรูประมาณ 3 – 4 แผล
เพื่อสอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด ทำให้เจ็บปวดน้อย เสียเลือดน้อย
ฟื้นตัวเร็ว กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
กำลังใจจากคุณหมอ “สำหรับคนที่ต้องตัดมดลูกทิ้งนั้นต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ เริ่มตั้งแต่ต้องอธิบายให้ชัดเจน ให้เข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องตัดเพื่อการรักษาทั้งที่มาจากโรคเอง และทั้งที่เป็นผลพวงมาจากอย่างอื่นหรือบางคนกลัวว่ามีเพศสัมพันธ์แล้วจะเจ็บหรือไม่ หรือจะมีผลเสียกับความรู้สึกทางเพศหรือเปล่า ซึ่งถ้าผ่าตัดถูกต้องตามวิธีแล้วไม่มีปัญหา หมดกังวลไปได้เลย ที่สำคัญบางคนคิดว่าถ้าตัดมดลูกทิ้งไปแล้วจะไม่ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกอีกยังไงก็ยังควรมาตรวจมะเร็งปากมดลูก จากเซลล์บริเวณช่องคลอดที่ติดกับปากมดลูกเป็นประจำทุกปีเหมือนเดิมนะครับ”
นพ. พงษ์ธร วิโรจน์ชัยวงษ์
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตรแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2527
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น