ท้องนอกมดลูก
“มดลูก” อวัยวะที่น่ามหัศจรรย์ในร่างกายของผู้หญิง
จากที่ขนาดเท่ากับไข่ไก่ในขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
สามารถขยายขนาดได้ใหญ่กว่าลูกแตงโมในขณะตั้งครรภ์
และลดขนาดโดยหดกลับมาเท่าเดิมได้เมื่อทารกคลอดออกไปแล้ว
ซึ่งทำให้มดลูกสามารถรองรับการตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี ปกติรังไข่จะผลิตไข่ออกมาเดือนละ 1 ฟอง เมื่อมีการตกไข่และไข่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว ไข่จะเคลื่อนที่ผ่านท่อนำไข่ไปยังโพรงมดลูก โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ระหว่างนั้น ไข่ก็จะมีการพัฒนาเติบโต จนพร้อมที่จะฝังตัวที่ผนังโพรงมดลูกและเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป
แบบไหนเรียกว่าท้องนอกมดลูก
กรณีของการท้องนอกมดลูกคือ การตั้งครรภ์บริเวณอื่นนอกเหนือไปจากโพรงมดลูก ซึ่งมักเกิดจากการที่ไข่เดินทางไปไม่ถึงโพรงมดลูกในเวลาที่จะฝังตัว เช่น ปีกมดลูกที่เคยมีการอักเสบมาก่อนจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ภายในท่อนำไข่มีพังผืด ซึ่งชะลอหรือขัดขวางการเคลื่อนที่ของไข่ ทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย และเมื่อไข่พร้อมที่จะฝังตัว ก็จะฝังตัวในบริเวณนั้นกลายเป็น ”การท้องนอกมดลูก”
การท้องนอกมดลูกมักเกิดขึ้นในบริเวณท่อนำไข่เป็นส่วนใหญ่ และเนื่องจากท่อนำไข่มีขนาดเล็กมากและ ไม่สามารถขยายตัวได้เหมือนมดลูก เมื่อถึงเวลาที่ไข่พร้อมฝังตัวและเจริญเติบโต จึงทำให้เนื้อเยื่อท่อนำไข่แตก ฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกในปริมาณมาก จนบางครั้งอาจทำให้คุณแม่ช็อกได้ หรือในกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่อันตรายมากคือ ไข่ฝังตัวที่อวัยวะภายในช่องท้อง หากตัวอ่อนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจทำให้อวัยวะฉีกขาด และทำให้มีเลือดออกเป็นจำนวนมาก สร้างความเจ็บปวดและอาจทำให้คุณแม่ช็อกได้เช่นกัน
อาการแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์
3 ลักษณะสำคัญของการท้องนอกมดลูก คือ
1. ตั้งครรภ์หรือประวัติประจำเดือนขาด2. ปวดท้อง
3. มีเลือดออกทางช่องคลอด
ใครที่ตั้งครรภ์แล้วปวดท้องและมีเลือดออกจึงควรไปพบแพทย์ทันที คนไข้ส่วนหนึ่งที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์แต่มาพบหมอด้วยอาการปวดท้องแต่เพียงอย่างเดียว ก็พบการท้องนอกมดลูกได้ ดังนั้น ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และไม่ได้คุมกำเนิด หากมีอาการปวดท้อง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ก่อนเป็นดีที่สุด
การวินิจฉัย รู้ได้ยังไงว่าท้องนอกมดลูก
อาศัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการการซักประวัติ เช่น ประวัติประจำเดือนขาด การคุมกำเนิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การท้องนอกมดลูกจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน และอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง หน้ามืด เป็นลม เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น
ตรวจร่างกาย อาจพบชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีอาการท้องอืด กดเจ็บ ตรวจภายในอาจพบเลือดออกทางช่องคลอด และกดเจ็บบริเวณท้องน้อย
ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ การตรวจเลือดเพื่อดูความเข้มข้นของเม็ดเลือด บางคนเลือดจาง ซีด เพราะมีเลือดออกมาก รวมทั้งมีการตรวจอัลตร้าซาวนด์อุ้งเชิงกราน ไม่พบการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก อาจพบก้อนหรือการตั้งครรภ์บริเวณปีกมดลูกหรือพบเลือดออกในช่องท้อง
ท้องนอกมดลูกต้องรักษาอย่างไร
การท้องนอกมดลูกส่วนใหญ่รักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้วิธีผ่าเปิดหน้าท้องออกเหมือนกับการผ่าคลอด ซึ่งอันดับแรกแพทย์จะพิจารณาตัดท่อนำไข่ออกไปด้วย หากท่อนำไข่อีกข้างปกติ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ถ้าดูแล้วว่าท่อนำไข่อีกข้างที่เหลือดูไม่ค่อยสมบูรณ์ก็จะเลือกผ่าตัดแบบอนุรักษ์ คือ ผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนการตั้งครรภ์ออกแล้วเก็บท่อนำไข่ไว้ หากคนไข้ยังคงต้องการมีบุตร แม้ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซ้ำสำหรับกรณีที่ตรวจพบว่าท้องนอกมดลูกที่ท่อนำไข่ยังไม่แตกและไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง สามารถใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเอาส่วนของการตั้งครรภ์ออกและซ่อมแซมส่วนทีเสียหาย หรือในบางกรณีการท้องนอกมดลูกอาจรักษาโดยใช้ยาและไม่ต้องผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและอายุครรภ์ของแต่ละคนซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการท้องนอกมดลูก
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของการตั้งครรภ์นอกมดลูก ส่วนใหญ่มาจากการเสียเลือดมากจนกระทั่ง หน้ามืด เป็นลม หรือช็อกได้ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากตำแหน่งของการท้องนอกมดลูก เช่น หากตั้งครรภ์ในช่องท้อง รกอาจไปเกาะบริเวณลำไส้ เวลาที่รกไปเกาะแล้วอาจทะลุเข้าไปในลำไส้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ลำไส้ได้นอกจากนี้ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่มาจากการรักษา เช่น การให้เลือด อาจเกิดการติดเชื้อ หรืออวัยวะข้างเคียงได้รับการบาดเจ็บจากการผ่าตัด
“การท้องนอกมดลูกไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่ควรป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือ หากเกิดโรค ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แทนที่จะซื้อยามาทานเองอาจเป็นการรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น บางโรคต้องทานยาให้ครบ 7-10 วัน แต่เราไปซื้อยามาทานเอง 3 วันดีขึ้น เราก็หยุด เป็นใหม่เราก็ซื้อมาทานใหม่ วนเวียนไปแบบนี้ แทนที่โรคนั้นจะเป็นครั้งเดียวแล้วหายขาดอาจกลับกลายเป็นเรื้อรัง ทำให้มดลูกอับเสบ ท่อนำไข่อักเสบ เกิดพังผืดเกิดรอยแผลเป็น การเดินทางของไข่เพื่อไปยังมดลูกก็ไม่สะดวกได้ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกได้”
นพ. พงษ์ธร วิโรจน์ชัยวงษ์
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2527
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222
Facebook : Samitivej Club
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น