วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปวดเข่า ควรทำอย่างไร?

ปวดข้อเข่า อย่าปล่อยนาน




หัวเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายและทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย อีกทั้งช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวสะดวกสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ หากข้อเข่ามีปัญหามีอาการปวดข้อเข่าขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวลำบากส่งผลกระทบมากมายต่อคุณภาพชีวิต หลายคนคงเคยได้ยินกับคำบ่นของคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ว่ามีอาการปวดข้อเข่า ปวดขาเวลาเดิน หรือเวลายืนนาน ๆก็ปวด อาการเหล่านี้บางคนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่แท้ที่จริงมีอันตรายมากมายที่ซ่อนอยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรปล่อยไว้นาน

สาเหตุของอาการปวดข้อเข่าคืออะไร

สาเหตุมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. เกิดจากอุบัติเหตุ จากการเล่นกีฬา ซึ่งอาการบาดเจ็บจากสาเหตุนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่โดยมากก็จะเป็นในคนอายุน้อยวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ความรุนแรงของสาเหตุนี้ก็เป็นได้ตั้งแต่เบาไปจนถึงหนัก เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หมอนรองกระดูกข้อเข่าขาด หรือ เส้นเอ็นฉีกขาด เป็นต้น มักจะมีอาการปวดข้อเข่าหรือข้อบวมทันทีภายหลังจากอุบัติเหตุ
  2. เกิดจากโรคข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น เก๊าท์ รูมาตอยด์ เป็นต้น โรครูมาตอยด์ เรายังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ส่วนโรคเก๊าท์เกิดจากการที่มีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ นอกจากโรคข้อแล้วกลุ่มนี้ยังรวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดด้วย ซึ่งการติดเชื้อนี้ก็สามารถทำให้ปวดข้อเข่าได้เช่นกัน
  3. เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อตามอายุ เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกสะสมมาเป็นเวลานาน เกิดความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า จนสึกหรอและบางลงเรื่อย ๆ เมื่อกระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมจนกระดูกบางลงมาก ๆ จะทำให้ปลายกระดูกของข้อเกิดการเสียดสีกันเกิดอาการเจ็บปวด กลุ่มนี้ก็จะพบได้ตั้งแต่คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการปวดข้อเข่าบ้าง

จริง ๆ แล้ววิถีชีวิตของคนไทยเรา ก็ส่งผลโดยตรงให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้อยู่แล้ว อย่างการนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ ท่าทางการนั่งเหล่านี้ก็มีผลต่อข้อเข่า บางคนต้องนั่งอยู่ในท่าทางแบบนี้นานๆอย่างนั่งสวดมนต์ ก็ทำให้เกิดปวดข้อเข่าขึ้นได้ อีกทั้งบางทียังมีพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ผิดๆ อีกอย่างบางคนมีน้ำหนักตัวมากอยู่แล้ว และต้องทำงานที่ต้องแบกหามหรือยกของหนักเป็นประจำ แบบนี้ก็จะทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อเข่าหนักขึ้น หรืออย่างในชีวิตประจำวันของบางคนต้องทำงานที่ตึกสูงประจำ และต้องเดินขึ้นบันไดเป็นส่วนมาก การก้าวเดินขึ้นที่สูงแบบนี้บ่อย ๆ ก็ส่งผลต่อเข่าได้เช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าทั้งสิ้น

ปวดข้อเข่าแบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์

  1. มีอาการปวดและไม่สามารถยืนหรือทิ้งน้ำหนักลงได้
  2. มีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรง และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. มีอาการข้อติดหรือข้อขัด เคลื่อนไหวข้อไม่เต็มที่
  4. มีการบวมและร้อนของข้อเข่าหรือบริเวณรอบๆข้อ

การรักษาอาการปวดข้อเข่าทำได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของการรักษา หมอก็จะทำการพิจารณาเป็นรายๆ ไป ดูจากสาเหตุและความหนักเบาของอาการถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน หมอก็จะให้หยุดพักการใช้ข้อเข่า อาจใช้ผ้ายืดพันเข่าไว้ถ้ามีอาการปวดเข่ามากเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นการชั่วคราว และให้คนไข้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ใช้เข่าน้อยลง

การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด และการใช้ยารักษา

รักษาด้วยกายภาพบำบัดอาจมีการประคบร้อนหรือเย็นช่วยด้วยก็ได้ บางรายก็จะให้รับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยซึ่งเป็นยาแก้ปวดทั่วไปไม่อันตรายต่อร่างกายนัก แต่ถ้าในรายที่มีอาการมานานเรื้อรังในกลุ่มสงสัยข้อเข่าเสื่อมก็จะมีการรักษาด้วยยา หมอจะให้ยารับประทานแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แต่ยากลุ่มนี้ก็จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง ยาบางตัวอาจจะส่งผลรบกวนต่อกระเพาะอาหารได้ การใช้ยาตรงนี้จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ ถ้าหายก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ถ้ารับประทานยาแล้วอาการปวดไม่บรรเทา ก็อาจรักษาด้วยยาฉีด ได้แก่ การฉีดสเตียรอยด์ และการฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic Acid) ซึ่งยาสเตียรอยด์ถ้าฉีดมากก็มีข้อเสีย เพราะสเตียรอยด์อาจส่งผลตรงกันข้ามคือไปกัดกร่อนกระดูกได้เหมือนกัน ส่วนการฉีดน้ำไขข้อเทียมส่วนมาก เราก็จะใช้ในกรณีที่คนไข้ข้อเข่าเสื่อม ฉีดเข้าไปเพื่อทดแทนน้ำเลี้ยงไขข้อเดิมที่เสื่อมคุณภาพจากอายุการใช้งานหรืออาจจะให้คนไข้รับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนเสริมเพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อเข่า

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

ซึ่งถ้ารักษาด้วยวิธีการทำกายภาพและรักษาด้วยยาทั้งหมดแล้วยังไม่หาย แพทย์จะพิจารณาเรื่องของการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนี้ก็สามารถทำได้หลายวิธีเช่นกัน ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากสาเหตุอาการปวดข้อเข่าคนไข้ด้วย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการผิวข้อเข่าเสื่อม และอายุของผู้ป่วยยังไม่มาก หมอก็อาจจะพิจารณาการผ่าตัดดัดเข่า เปลี่ยนจุดรับน้ำหนักของข้อเข่าเป็นการชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หรือในรายที่มีการฉีกขาดของกระดูกอ่อนก็จะใช้การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า (Arthroscopy)ในการรักษาหากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากในข้อเข่าเสื่อมมีการผิดรูปของข้อเข่าเช่น เข่าโก่งเข้าหรือโก่งออก หมอก็จะใช้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผลของการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

ทำอย่างไรให้ห่างไกลอาการปวดข้อเข่า

  1. ใช้เข่าให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้น การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งยอง ๆ ปรับเปลี่ยนนั่งเก้าอี้ที่มีความ สูงระดับเข่า การยกของหนักบ่อย ๆ การเดินหรือวิ่งขึ้นลงบันไดหรือขึ้นที่สูงชัน
  2. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  3. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเข่า
  4. ควรหมั่นทำการเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา (Quadricep) เพราะกล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงกระดูกข้อต่อและเอ็นเข่า ฉะนั้นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงจะช่วยแบ่งเบาการทำงานของข้อเข่าและเอ็น
ดังนั้นเราจะพบว่าอาการปวดข้อเข่าเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง และการรักษาก็มีมากมายปรับเปลี่ยนไปตามสาเหตุและอาการที่เป็น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจกับการดูแลเข่าของเราเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะเข่าของเรารับภาระที่หนักมาโดยตลอดถ้าเราไม่ใส่ใจดูแลเข่าเสียบ้าง ข้อเข่าอาจจะน้อยใจและพาลจะไม่ทำหน้าที่ประคองน้ำหนักร่างกายของเราอีกต่อไป คือ ข้อเข่าอาจจะเสื่อมเร็วขึ้นจนใช้งานเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว การดูแลข้อเข่าจึงเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจอย่างยิ่ง ถ้าคุณเริ่มมีอาการปวดข้อเข่า ก็อย่าปล่อยเอาไว้นานควรรีบไปพบแพทย์ทำการรักษาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆเพื่อเป็นการถนอมรักษาข้อเข่าของเราไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2516
สาขาออร์โธปิดิกส์ สาขาออร์โธปิดิกส์



วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลูกปวดท้อง ท้องอืดไม่ทราบสาเหตุ ?


อาการท้องอืดของเด็กๆ  เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเรื่องของโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณก๊าซในกระเพาะอาหารและลำไส้มากเกินไป  ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ  เช่น เรอบ่อย  อึดอัดแน่นท้องโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ท้องโตเป็นพักๆ ผายลมบ่อย เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้เช่นกัน  ถ้ารับประทานอาหารปริมาณมากและเร็วเกินไป หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีก๊าซ  อาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเรื้อรัง ไม่สัมพันธ์กับชนิดอาหารก็มี  หรือมีความรุนแรง เช่น มีอาการมากจนทำให้รับประทานอาหารน้อยลง

อาการของเด็กๆ ที่สามารถสังเกตุได้ มีดังนี้

  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักขึ้นน้อย
  • ท้องผูก
  • มีกลิ่นปาก
  • ผายลมเหม็น

สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะท้องอืดเรื้อรังเกิดจาก 3 ภาวะ ได้แก่

  • ปริมาณแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน
  • ภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม
  • โรคลำไส้แปรปรวน
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างเจาะลึกเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร

การตรวจวัดลมหายใจเพื่อหาความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร Hydrogen breath test

สามารถรู้สาเหตุที่แท้จริงให้เด็กๆ ได้แบบ ตรงจุด ตรวจง่าย หายเร็ว

ปัจจุบันการตรวจไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนและให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน สำหรับการตรวจหาสาเหตุของโรคท้องอืดเรื้อรัง จะใช้วิธีการตรวจด้วย เครื่องตรวจลมหายใจ (Breath test) อาศัยหลักการตรวจหาก๊าซที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งจะซึมผ่านเข้ากระแสเลือดและปล่อยออกทางลมหายใจ โดยก๊าซที่ตรวจนั้น ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน

ขั้นตอนการตรวจ

งดอาหารและน้ำก่อน 12 ชั่วโมง จากนั้นให้รับประทานสารที่ใช้ในการตรวจแยกโรค ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุที่แพทย์สงสัย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสงสัยภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม ก็จะให้กินน้ำตาลแลคโตส แต่ถ้าสงสัยภาวะแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน ก็จะให้กินน้ำตาลกลูโคสหรือสารแลคตูโลส เป็นต้น จากนั้นจะให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจใส่ในถุงตรวจ ทุกๆ 15 นาที จนครบ 120 นาที แพทย์นำผลมาวิเคราะห์ต่อ

การทดสอบสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป   (โดยเฉพาะเด็กท้องอืดมาก น้ำหนักไม่ขึ้น  เด็กๆที่ขาดวิตามิน ทุกอายุ)

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ระวัง…โรคไข้เลือดออก

ระวัง…โรคไข้เลือดออก



มีรายงานผู้ป่วยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,553 ราย เสียชีวิต 3 ราย (!) การกระจายการเกิดโรคพบว่าภาคใต้มีอัตราป่วยสูงที่สุด เท่ากับ 147.71 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ อัตราป่วย 102.75 ต่อประชากรแสนคน ภาคกลาง อัตราป่วย 71.49 ต่อประชากรแสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 70.39 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : Manager Online http://www.manager.co.th/UpToDate/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121036 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559

เนื่องด้วยความรุนแรงของสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกขณะนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเฝ้าระวัง ให้ความใส่ใจ และดูแลป้องกันอย่างใกล้ชิด โรงพยาบาลสมิติเวช จึงนำบทความน่าสนใจและควรรู้ มาฝากทุกท่าน เพื่อช่วยป้องกัน ดูแล และเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย

อาการ และการรักษาโรคไข้เลือดออก

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี่ (dengue fever หรือ DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและถึงเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ

เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลังดังนี้

1.    ไข้สูงลอย 2-7 วัน
2.    มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3.    มีตับโต กดเจ็บ
4.    มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว ภาวะช็อก อาการไข้ ผู้ ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) และตรวจดูคอก็อาจพบมี injected pharynx ได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคหัดในระยะแรกและโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไปและอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน และบางรายไข้จะเป็นแบบ biphasic ได้ อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้

อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุด

คือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย โดยการทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อกในรายที่มีภาวะช็อก อยู่นาน

ตับโต ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ ภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงโดยมี pulse pressure แคบเท่ากับหรือน้อยกว่า 20 มม.ปรอท (ปกติ 30-40 มม.ปรอท) ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกส่วนใหญ่จะมีความรู้สติ พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นอย่างกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นภาวะทางศัลยกรรม ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง รอบปากเขียว ผิวสีม่วงๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและวัดความดันไม่ได้ (profound shock) ความรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีภาวะช็อก หากว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาช็อกอย่างทันท่วงทีและถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ ระยะ profound shock ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อยร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของ ชีพจรและความดันเลือด ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการไหลเวียนของเลือด เนื่องจากการรั่วของพลาสมาออกไปแต่ไม่มากจนทำให้เกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะ นี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งได้ผลดีถ้าให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมี nursing care ที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา

การดูแลรักษาผู้ป่วย

1.    ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญอาจทำให้เกิด Reye syndrome ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้น (เพื่อให้ไข้ที่สูงมากลดลงเหลือน้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส) การใช้ยาลดไข้มากไปจะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ ควรจะใช้การเช็ดตัวช่วยลดไข้ด้วย
2.    ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียมด้วย ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือ สารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อยๆ และดื่มบ่อยๆ
3.    จะต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ช็อกมักจะเกิดพร้อมกับไข้ลดลงประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาที่เป็นไข้ ถ้าไข้ 7 วันก็อาจช็อกวันที่ 8 ได้ ควรแนะนำให้พ่อแม่ทราบอาการนำของช็อก ซึ่งอาจจะมีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างกะทันหัน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ควรแนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเหล่านี้
4.    เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกร็ดเลือดและ hematocrit และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกร็ดเลือดเริ่มลดลงและ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องชี้บ่งว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
5.    โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ยังมีไข้ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้ยาไปรับประทาน และแนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าสังเกตอาการตามข้อ 3 หรือแพทย์นัดให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ โดยตรวจดูการเปลี่ยนแปลงตามข้อ 4 ถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดงอาการช็อก ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย และถือเป็นเรื่องรีบด่วนในการรักษา

การป้องกัน


ศ.คลินิก เกียรติคุณ เสน่ห์ เจียสกุล
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์
สาขากุมารเวชศาสตร์ อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222
Facebook: Samitivej Club


วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก



1. โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในประเทศไทยเกิดจากเชื้ออะไร

ตอบ โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในประเทศไทยมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเดงกี่พบทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4

2. ในประเทศไทยพบไข้เลือดออกในคนกลุ่มอายุเท่าใดบ่อยที่สุด   

ตอบ  โรคไข้เลือดออกพบได้ทุกกลุ่มอายุ ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ80 ของผู้ติดเชื้อที่มีอาการ อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 5-34 ปี   

3. ไข้เลือดออกรุนแรงเป็นอย่างไร

ตอบ ไข้เลือดออกรุนแรง (severe dengue) มีอาการดังต่อไปนี้  
  • อาเจียนไม่หยุด
  • ปวดท้องรุนแรง (จากการที่มีน้ำคั่งผิดปกติ)
  • หายใจเร็วจากการมีน้ำคั่งในเยื่อหุ้มปอด
  • ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่าย หรือซึมมาก
  • เลือดออกในอวัยวะต่างๆ รุนแรง เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
  • การทำงานอวัยวะภายในร่างกายบกพร่อง เช่น ตับ ไต
  • มีความผิดปกติในสมอง 
  • ช๊อก และอาจเสียชีวิตได้ 

4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกใช้แล้วหรือยัง?

ตอบ  ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้ เป็นวัคซีน CYD-TDV หรือ DENGVAXIA ยังมีวัคซีนอีกหลายขนิด ที่อยู่ระหว่างการทดลองศึกษาวิจัย

5. CYD-TDV หรือ Denvaxia คืออะไร?

ตอบ CYD-TDV หรือ DENGVAXIA เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดแรกที่ได้รับการรับรอง โดยได้การรับรองครั้งแรกที่ประเทศเมกซิโกในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ให้ใช้ในกลุ่มคนที่มีอายุ 9-45 ปีในเขคที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เป็นวัคซีนขนิดมีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ มีเชื้อไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคทั้ง 4 สายพันธุ์ กำหนดให้ฉีด 3 ครั้ง 0-6-12 เดือน ปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ใน 13 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย

6. ใครควรได้รับการฉีดวัคซีน 

ตอบ ทุกคนที่อายุ 9-45 ปี และอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และเป็นผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้
 ข้อห้ามใช้ที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมีดังนี้
  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงในส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในวัคซีน หรือมีการแพ้ในวัคซีนนี้ที่ได้รับครั้งแรก หรือแพ้วัคซีนชนิดอื่นที่มีส่วนประกอบเหมือนกัน
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง  เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อ HIV (เอดส์) หรือได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสเตียรอยด์ในขนาดสูง หรือ เคมีบำบัด) 
  • สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ อยู่ระหว่างให้นมบุตร
  • ผู้ที่ มีไข้ระดับกลางจนถึงไข้สูง หรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดีแล้ว

7. หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มอายุ 9 – 45 ปี สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่  

ตอบ  ยังไม่สมควรได้รับวัคซีนนี้ เนื่องจากข้อมูลทางคลินิกที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ


8. ประสิทธิภาพของวัคซีน 

ตอบ วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่อเชื้อไวรัสทั้ง4 สายพันธุ์
  • สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65.6 %
  • ลดความรุนแรงของโรค 93.2 %
  • ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 80.8 %

9. ข้อแนะนำในหญิงตั้งครรภ์

ตอบ  เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นชนิดตัวเป็น (live-attenuated vaccine) เหมือนวัคซีนทั่วไป จึงห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และขอแนะนำว่า สตรีที่ได้รับวัคซีนควรเว้นระยะก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน

10. หากผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อน ไม่ว่าจะมีแค่อาการไข้อ่อนๆหรือป่วยหนัก ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนได้อีกหรือไม่

ตอบ วัคซีนสามารถใช้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีจากทั้งสายพันธุ์ 1, 2, 3, และ ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 -45 ปี ที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีดให้กับผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อนจะสูงกว่าและสามารถช่วยป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีสายพันธุ์อื่นๆได้ด้วย

11.มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ตอบ ฉีดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์


12.วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สามารถป้องกันเชื้อไข้เลือดออกได้กี่สายพันธุ์  
ตอบ DENGVAXIA เป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ซีโรไทป์ 1, 2, 3 และ สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 - 45 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค 


13.การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกฉีดอย่างไร 
ตอบ ฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) ฉีดวัคซีน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.5 มล. โดยฉีดห่างกันครั้งละ 6 เดือน เริ่มวันที่ฉีดครั้งแรกเป็นเข็มแรก  เข็มที่สองจะฉีดหลังเข็มแรก 6 เดือน และเข็มที่สามจะฉีดหลังเข็มที่สอง 6 เดือน 


14. ความปลอดภัยของวัคซีน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น  
ตอบ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังการฉีดวัคซีนคล้ายวัคซีนชนิดอื่น เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด  ปวดกล้ามเนื้อ  ปวดหัว มีไข้ต่ำๆ ผิวหนังแดง ห้อเลือด บวม และ คัน โดยอาการที่พบทั้งหมดจะเป็นชนิดไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 3 วันหลังจากฉีดวัคซีน


15. ภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อใด
ตอบ  ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นเต็มที่เมื่อฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม


16. ฉีดแล้วจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ตลอดชีวิตหรือไม่
ตอบ จนถึงขณะนี้หลังฉีดครบ 3 เข็ม ตามหลักวิชาภูมิคุ้มกันน่าจะยังคงอยู่ได้นาน   ต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหรือไม่


17. การฉีดวิคซีนในเด็กกับผู้ใหญ่ แตกต่างกันหรือไม่ 
ตอบ ไม่แตกต่างกัน ในเกณฑ์อายุระหว่าง 9 – 45 ปี


18.   การฉีดเข็มที่ 2หรือ  หากไม่ได้ฉีดตรงตามวันที่กำหนด สามารถฉีดได้หรือไม่   หรือต้องเริ่มนับเป็นเข็มที่ 1 ใหม่
ตอบ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สามารถบวกลบได้ 20วัน


19.   สามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนตัวอื่นในวันเดียวกันได้หรือไม่
ตอบ  ยังไม่มีการศึกษา เพื่อความปลอดภัยควรมีระยะห่างจากวัคซีนชนิดอื่น ประมาณ 4 สัปดาห์  
  
20. ก่อนและหลังได้รับวัคซีน ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ตอบ ก่อนได้รับวัคซีนต้องไม่มีไข้ และหลังการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรง หรือ บางส่วนของเชื้อโรคมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรับวัคซีนแล้วอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการไม่มาก และจะหายไปเอง
  
ประธานคณะกรรมการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์  
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :


วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สิ้นสุดการรอคอยกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก



อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยแล้วก็ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น สิ่งที่เราต้องตระหนักสำหรับโรคไข้เลือดออกก็คือ ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษา ดังนั้นการจะต่อสู้กับโรคนี้ต้องต่อสู้ในเชิงป้องกัน  หลังจากที่รอคอยมานานนั้น ล่าสุด “วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก” ได้ถูกนำมาใช้แล้วในหลายๆประเทศ และกำลังจะนำมาใช้ ในประเทศไทยครั้งแรกที่โรงพยาบาลสมิติเวชนี่เอง  เราจึงขอนำทุกท่านมาติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกและวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกันเลยดีกว่า

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียนสถานการณ์และความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 3 – 4 ปีก่อนจนถึงปัจจุบันเราพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากตัวเลขในปีที่ผ่านมาเราพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมากกว่า หนึ่งแสนสี่หมื่นกว่ารายในประเทศไทย สำหรับปี 2559 นี้เราพบว่าช่วงต้นปียังคงพบผู้ติดเชื้อมากอยู่ แต่ก็มาเริ่มลดลงในช่วงกลางปี พอมาถึงช่วงปลายปีนี้โรคไข้เลือดออกก็เริ่มกลับมาใหม่ จากตัวเลขล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วอยู่ที่ 58,555 ราย มีผู้เสียชีวิตจากจำนวนผู้ติดเชื้อนี้อยู่ที่ 57 ราย คิดเป็น 0.1 % จากตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเดียวกันถือว่าปีนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกน้อยลงกว่าปีที่แล้ว ถึงแม้เราจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกลดลงก็ตาม แต่สิ่งที่สวนทางกลับมาก็คือ เราพบว่าโรคไข้เลือดออกกลับอยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากขึ้น เมื่อก่อนเรามักจะเห็นว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดจะมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกมากกว่าคนอยู่ในเมืองหรืออยู่ในกรุงเทพ ฯ แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว กรุงเทพ ฯ กลับกลายเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีอัตราเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไข้เลือดออกเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศเลยทีเดียว จากตรงนี้เราจึงบอกได้เลยว่าถึงอย่างไรโรคไข้เลือดออกก็ยังเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและต้องให้ความสำคัญอยู่เสมอ

จะเฝ้าระวังได้ดีก็ต้องรู้จักโรคไข้เลือดออกให้ดียิ่งขึ้นก่อน

อย่างที่ทราบกันโรคไข้เลือดออกนั้นมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อันมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ช่วงที่โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก ๆ จะเป็นช่วงหน้าฝน คือเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน ไวรัสเดงกี่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยเรานั้นมีระบาดอยู่ครบทั้ง 4 สายพันธุ์เลยทีเดียว การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อคหรือเสียชีวิต

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราหรือคนใกล้ชิดเสี่ยงกับโรคไข้เลือดออก 

สิ่งที่เราต้องทำก็คือเฝ้าสังเกตอาการคนใกล้ชิด อาการของโรคไข้เลือดออกจะพบว่ามีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวและปวดลึกไปถึงกระดูกมีความรู้สึกปวดมากเหมือนกระดูกจะแตกเลยทีเดียว ทางการแพทย์เรียกอาการปวดลักษณะนี้ว่า Break Bone ซึ่งถ้าเป็นไข้แบบปกติทั่วไปจะไม่มีอาการลักษณะนี้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน บางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสเป็นไข้เลือดออก ทั้งนี้ทางที่ดีผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หากนิ่งนอนใจไม่ส่งโรงพยาบาลโรคก็จะเคลื่อนไปยังระยะต่อไปที่รุนแรงมากขึ้นจากมีไข้สูงบางรายอาจจะมีจุดเลือดสีแดงออกตามลำตัว แขนขา เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด และตามมาด้วยอาการตับโต เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตจนทำให้ผู้ป่วยช็อคและเสียชีวิตในที่สุด

แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก เมื่อก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร

โรคไข้เลือดออกสิ่งที่น่าวิตกของโรคนี้ก็คือ ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง การรักษาโรคนี้จึงต้องเป็นการรักษาแบบตามอาการ มีการตรวจเลือดเป็นระยะ ให้เกลือแร่ ให้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลและงดใช้ยากลุ่มแอสไพริน เรียกได้ว่าในอดีตและปัจจุบันการรักษาไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แต่สำหรับปัจจุบันจะดีกว่าตรงที่ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้เราสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลงได้บ้าง จากตรงจุดนี้จึงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการรับมือโรคไข้เลือดออกมาขึ้น ปัจจุบันจึงมีการศึกษาและพยายามที่จะนำแนวคิดใช้การป้องกันเป็นการรักษาโรคนี้แทน โดยได้มีการวิจัยร่วมจากประเทศแถบเอเชีย คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย และประเทศแถบละตินอเมริกา (บราซิล โคลอมเบีย ฮอนดูรัส เม็กซิโก) สุดท้ายเราจึงได้นวัตกรรมการรักษาที่เป็นข่าวดีมาก ๆ นั่นคือการค้นพบ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก” นั่นเอง

ความน่าสนใจของวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

จากการวิจัยร่วมของ 5 ประเทศ นำไปสู่การพัฒนาต่อจนได้เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีชื่อเป็นทางการว่า “เด็งวาเซีย” (Dengvaxia) ซึ่งบริษัทผู้ผลิตนั้นเป็นบริษัทของฝรั่งเศส วัคซีนนี้ผลิตขึ้นมาจากไวรัสที่มีชีวิตและถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบกับอาสาสมัครกว่า 3 หมื่นกว่าราย ใน 2 ทวีปมาแล้ว และผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าพอใจ เรียกว่าเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์ แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ 100% เสมอไป จากผลการศึกษาพบว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเด็งวาเซียนี้มีประสิทธิภาพ  คือสามารถลดความรุนแรงของโรคได้  93.2 %   ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล  80.8 %   และความสามารถในการป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์อยู่ที่ 65.6 %  คือประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในแต่ละสายพันธุ์นั้นจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราพบว่าสายพันธุ์ที่ 4 จะตอบสนองกับวัคซีนตัวนี้ได้ดีที่สุด ส่วนสายพันธุ์ที่ 2 จะตอบสนองกับวัคซีนนี้ได้น้อยที่สุด ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกันทั้งเรื่องของอายุ วัคซีนนี้จะได้ผลดีในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 9 ขวบ ไปถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี ประวัติของการได้รับเชื้อของคนไข้ จากการศึกษาเราพบว่าผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อนจะตอบสนองกับวัคซีนตัวนี้ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยเป็น หรือไม่เคยได้รับเชื้อไข้เลือดออกและอีกปัจจัยก็คือชนิดของสายพันธุ์ไข้เลือดออกที่เป็นนั่นเอง 

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกฉีดได้ทุกคนหรือไม่

จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้แจงว่าผู้ที่เหมาะสมเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก คือ ผู้มีอายุระหว่าง 9-45 ปี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค ยังไม่ได้แนะนำว่าควรที่จะฉีดวัคซีนนี้ทุกคน แต่จากคำแนะนำนี้ก็เท่ากับว่าคนไทยเราในช่วงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เหมาะสมที่จะเข้ารับวัคซีนชนิดนี้ เพราะไทยเราเป็นโซนที่มีโรคไข้เลือดออกระบาด ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน หลังฉีดครบ 3 เข็ม ตามหลักวิชาการภูมิคุ้มกันจะยังคงอยู่ได้  แต่ต้องมีการติดตามกันไปเรื่อยๆว่าจะสามารถคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหรือไม่  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนกันไป ส่วนกลุ่มคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รับประทานยากดภูมิ กำลังได้รับยาเคมีบำบัด มีเชื้อ HIV หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรรับวัคซีนตัวนี้

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีผลข้างเคียงหรือไม่

จากการศึกษาเราพบว่าวัคซีนชนิดนี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้างแต่ก็ไม่รุนแรงอะไรและเกิดได้น้อยมาก เมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะและมีไข้ได้ กลุ่มนี้อาจพบได้ 1 ใน 10 บางคนอาจมีอาการมีเวียนหัว ไอ เจ็บคอ มีผื่นคัน กลุ่มนี้ก็พบได้น้อยลงไปอีก อยู่ที่ 1 ใน 100 ส่วนถ้ารุนแรงกว่านั้น คือ มีผลต่อระบบประสาทนี่เรียกว่าน้อยมาก ๆ มากกว่าอัตรา 1 ใน 10,000 แต่จากรายงานจนถึงปัจจุบันยังไม่มีพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าวเลย จากข้อมูลตรงนี้เราจึงสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้ค่อนข้างที่จะปลอดภัย
สิ่งที่น่ายินดีก็คือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้มาถึงประเทศไทยแล้ว ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามจากทางโรงพยาบาลได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และศรีนครินทร์ โทร.020-222-222




วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รักษายิ่งเร็ว….ยิ่งมีโอกาสรอด




หากท่านมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ออก ฟัง ไม่เข้าใจภาษา เห็นภาพซ้อน เดินเซ ตามัว ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน เป็นในทันทีทันใด” ขอให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อผู้ป่วยเกิดโรคหลอดเลือดสมอง จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อสมองบริเวณนั้น ทำให้การทำงานของสมองเกิดความผิดปกติหรือสูญเสียไป


โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

หลอดเลือดสมองตีบ ตัน พบได้ 80 – 85 % สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
  1. เกิดในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ผนังหลอดเลือดด้านในหนาตัวขึ้นจากคราบไขมันคอเลสเตอรอลสะสม ผนังหลอดเลือดเหล่านี้จะเสียความยืดหยุ่น ปริแตกง่าย เมื่อมีการไหลเวียนของเลือดไปกระแทกที่ผนังหลอดเลือด จะเกิดแผลเล็กๆที่ผนังหลอดเลือดด้านในได้ง่าย ร่างกายจะสร้างเกล็ดเลือดและพังผืดไปซ่อมแซม ทำให้คราบสะสมเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนอุดตันหลอดเลือดในที่สุด
  2. เกิดจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นบริเวณอื่น เช่นหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ หลุดไปตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
  3. เกิดจากโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น หลอดเลือดอักเสบ โรคการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ การปริแตกของเยื่อบุหลอดเลือดด้านใน เป็นต้น

หลอดเลือดสมองแตก พบได้ 15 – 20 % เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง มีความเสื่อม หรือเสียความยืดหยุ่น ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นโป่งพองและแตกออก เมื่อเกิดหลอดเลือดสมองแตก ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อสมอง เกิดความทุพพลภาพ หรือบางกรณีอาจอันตรายมากจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว



เพราะอะไรหลอดเลือดสมองถึงตีบ แตก ตัน

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากยิ่งขึ้น ได้แก่
  1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ อายุ เพศ พันธุกรรม
  2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ใครที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากขึ้นไปอีก

ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มักเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน ดังนั้นการป้องกันโดยการลดปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น ความดัน เบาหวาน ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว รับประทานอาหารประเภทกากใยให้มากขึ้น รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


เป็นแล้วต้องทำอย่างไร

สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน เฉียบพลัน ปัจจุบันมียาสลายลิ่มเลือด ( rtPA : recombinant tissue plasminogen activator) เพื่อใช้รักษาภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน จากการศึกษาถึงประโยชน์จากการที่ได้รับยานี้ เมื่อติดตามผู้ป่วยเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา ผลปรากฏว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยโอกาสที่จะฟื้นตัวจากความพิการสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยา 30 % นับจากเริ่มเป็น จนถึงการวินิจฉัยและให้ยา ต้องอยู่ภายในไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง แพทย์จะต้องประเมินแล้วว่าไม่มีข้อห้ามต่างๆ ในการใช้ยา และมีการตรวจเลือดตามข้อกำหนดมาตรฐาน รวมถึงผลเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะต้องยืนยันชัดเจน ว่าไม่มีเลือดออกในสมองก่อนให้ยา เพราะฉะนั้นต้องทราบเวลาที่เริ่มเกิดอาการอย่างชัดเจน และผู้ป่วยควรรีบมาให้ถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากกระบวนการวินิจฉัยตลอดจนการตรวจผลเลือดตามมาตรฐานที่กำหนดต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง


ข้อคิดจากคุณหมอ หัวใจสำคัญของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ ให้รีบเข้ามารับการรักษาอย่างเร่งด่วนภายใน 4.5 ชั่วโมง หากใครมีอาการดังกล่าวอย่านิ่งนอนใจปล่อยไว้ จนสายเกินไป ปัจจุบันมียาสลายลิ่มเลือดที่ให้ผลการรักษาได้ผลดี แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพิ่มโอกาสหายกลับไปเป็นปกติได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานสมองเสียหายมาก โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตถาวรจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นยิ่งมาเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น Stroke Fast Track ยิ่งเร็ว…ยิ่งมีโอกาสรอด”

 พญ. ณัฐธิดา สุรัสวดี

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
คณะแพทยสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551
สาขาประสาทวิทยา

โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222

Facebook : Samitivej Club