ปวดศีรษะหรือปวดหัว เป็นอาการที่เป็นกันได้บ่อยๆ แต่สร้างความลำบากในการดำรงชีวิต และบ่อยครั้งที่สร้างความลำบากให้กับแพทย์ในการวินิจฉัยอย่างมาก เนื่องจากอาการปวดหัว อาจเกิดจากสาเหตุเล็กๆน้อยๆอย่างเช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้สายตามาก การกินอาหารผิดเวลา จนกระทั่งถึงอาการหนักๆ อย่างไมเกรน หรือแม้กระทั่งโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคติดเชื้อในสมอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากโรคที่รุนแรงนั้น ถูกจัดไว้เป็น Secondary symptom headache ซึ่งมักจะมีอาการจำเพาะ เช่น การปวดศีรษะรุนแรงและมีไข้ คอแข็งเกร็ง มักสัมพันธ์กับการติดเชื้อหรืออักเสบเยื่อหุ้มสมอง หรือหากมีอาการปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ มีอาการชัก อาจเป็นอาการแสดงของการมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ในขณะที่อาการปวดศีรษะที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทีละนิดร่วมกับอาการแสดง อื่นๆที่มากขึ้นเรื่อยๆอาจแสดงถึงการขยายขนาดของก้อนผิดปกติในเนื้อสมอง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยทนไม่ไหวต้องพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา
แต่สำหรับอาการปวดศีรษะที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงดังกล่าว ซึ่ง เราสามารถเป็นกันได้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Primary disorder headache เช่น อาการปวดศีรษะจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลังจากอดนอนมาทั้งคืน หรือการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบดวงตาหลังจากจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ รวมถึงการปวดศีรษะจากความเครียด เราจะสามารถทราบสาเหตุได้ทันที เพราะการปวดสัมพันธ์กับกิจกรรม
ในขณะที่อาการปวดศีรษะจากไมเกรน(Migraine) นั้นจะมีลักษณะจำเพาะ คือการปวดตุบเป็นจังหวะ มักจะปวดศีรษะข้างเดียวแต่ก็อาจปวดทั้งสองข้างได้ ระยะเวลาปวดนานเป็นชั่วโมงหรืออาจนานถึง 2-3 วัน ไมเกรนแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือแบบมาตรฐาน (classic type) ซึ่งจะมีอาการนำมาก่อน เช่น การมองเห็นแสงวูบวาบ เวียนศีรษะ หน้ามืด อารมณ์แปรปรวน เบื่ออาหาร เป็นต้น หรือไมเกรนอีกแบบหนึ่งคือแบบทั่วไป (common type) ซึ่งจะไม่มีอาการนำมาก่อน และยังมีไมเกรนชนิดอื่นๆซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก
สำหรับคนที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ ทั้งชนิดไมเกรน และการปวดศีรษะเล็กๆน้อยๆอื่นๆ ผมอยากแนะนำให้เขียน “บันทึกปวดหัว (Headache Diary)” นะครับ อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะอมยิ้มหรือไม่ก็หัวเราะ เพราะคิดว่าผมจะยุให้ท่านเขียนหนังสือขาย แต่ที่จริงผมหมายถึงการจดบันทึกทุกครั้งที่มีอาการปวดศีรษะ โดยบันทึกรายละเอียดที่สำคัญต่างๆ รวบรวมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเราเองอาจจะวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้นเพื่อการป้องกันได้ หรือเมื่อมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากๆ หรือมีความถี่ที่มากขึ้น เราจะสามารถทราบได้ทันที และเมื่อนำบันทึกดังกล่าวให้แพทย์ดู จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง
หัวข้อ | รายละเอียด |
1.วันและเวลา ที่ปวดศีรษะ | ผู้หญิงควรระบุช่วงประจำเดือนด้วยนะครับ |
2.ระยะเวลาที่ปวดศีรษะ | กี่นาที กี่ชั่วโมง หรือกี่วัน |
3.ตำแหน่งที่ปวดศีรษะ | ปวดเฉพาะจุด หรือปวดทั้งศีรษะ หรือมีการร้าวไปบริเวณใด |
4.ลักษณะการปวด | ปวดตุ๊บ ตุ๊บ เป็นจังหวะ / ปวดตื้อๆตลอดเวลา / ปวดบีบๆตลอดเวลา / หรือเป็นอาการเจ็บแบบแปล๊บๆ |
5.ลักษณะการเริ่มต้นปวด | ค่อยๆ ปวดทีละน้อย หรือ ปวดรุนแรงทันที |
6.อาการนำก่อนปวด | เวียนศีรษะ เห็นแสงวูบวาบ ตาลาย หูอื้อ ฯลฯ (หากมี) |
7.กิจกรรมที่ทำก่อนปวดศีรษะ | |
8.อาหารที่รับประทานมื้อก่อนที่จะปวดศีรษะ | อาหาร และ ยา ที่รับประทาน เวลาที่รับประทาน |
9.ระยะเวลาในการนอนหลับในคืนก่อน | |
10.ยาที่กินแล้วหายปวดศีรษะ | |
11.กิจกรรมที่ทำแล้วหายปวด |
ได้เห็นหน้าตาของ “บันทึกปวดหัว”แล้ว หลายท่านคงจะพอเข้าใจว่า ทำไมผมถึงแนะนำให้ทำบันทึกนี้ เมื่อเรามีข้อมูลมากพอ เราจะพบว่าสาเหตุของการปวดศีรษะของบางคนเกิดจากสาเหตุเดิมซ้ำๆ เช่น จากการทำงาน การอดนอน หรือแม้แต่อาหาร และบางท่านก็จะทราบวิธีป้องกันตลอดจนวิธีการรักษาเบื้องต้นสำหรับตนเองด้วย นอกจากนี้เมื่อเรานำวันเวลาที่มีอาการปวดศีรษะไปลงในปฏิทิน เรายังจะทราบความถี่ด้วยว่า เราปวดศีรษะเดือนละกี่ครั้ง เป็นช่วงไหนของเดือน สัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ และเมื่อใดที่รูปแบบของการปวดศีรษะเปลี่ยนไป รุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น และไม่หายด้วยการกินยาเดิมๆหรือกิจกรรมเดิม ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรึกษาแพทย์
อีกหนึ่งคำถามที่คนไข้อยากรู้ก็คือ เมื่อไหร่ จึงควรวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) คำตอบก็คือ ในรายที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน, ในรายที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง, ในรายที่รูปแบบและความถี่ของการปวดศีรษะเปลี่ยนแปลงไป หรืออาการปวดศีรษะที่มีอาการอื่นๆร่วมด้วยซึ่งแพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นการปวด ศีรษะในกลุ่ม Secondary symptom อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีดังกล่าว ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงในประเทศของเรา หากสงสัยให้ปรึกษาแพทย์โดยละเอียด
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง แต่ปวดน้อยๆปวดบ่อยๆ เรามาเริ่มทำ“บันทึกปวดหัว” เพื่อวิเคราะห์อาการปวดศีรษะของตัวเองกันเถอะครับ
นพ.สิรวิชญ์ เดชธรรม (พ.บ.,น.บ.,บธ.ม.)
ประกาศนียบัตรอาชีวเวชศาสตร์
Wellness Center, รพ.สมิติเวช ศรีราชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น