วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดูแลหัวใจอย่างไร ไม่ให้ “ร้อน”

ในที่สุดหน้าร้อนก็มาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง  อาหารการกินก็ละลานตาไปหมด หน้าร้อนเป็นช่วงที่ของอ้วนๆ อุดมสมบูรณ์ทั้งนั้น  แถมความร้อนยังทำให้ไม่อยากสะอิ้งกายทำอะไรทั้งนั้น เพราะจะเหงื่อไหล ไคลย้อย ไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว เลยไม่คิดจะออกกำลังกาย ออกได้แต่กำลังปาก  ซึ่งจะลำบากหัวใจ
อาจารย์อภิชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อายุรแพทย์ทางด้านหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เล่าให้ฟังว่าการดูแลสุขภาพหัวใจในช่วงหน้าร้อน น่าจะเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายของเราเองมากกว่า  คุณหมอจึงอยากแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร เพราะเป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคต่างๆ เช่น คอเลสเตอรอล ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ซึ่งจะส่งผลต่อการเป็นโรคหัวใจได้ ถ้าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ยิ่งต้องระวังใหญ่เลย
สำหรับโรคหน้าร้อนที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ อาการเป็นลมซึ่งคนปกติทั่วไปสามารถเป็นลมได้ เพราะร่างกายขาดน้ำ เมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องบีบหัวใจแรงขึ้นในสภาวะที่ขาดน้ำ หัวใจห้องล่างจะถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการทางระบบประสาทบางชนิด (Reflex) ทำให้หลอดเลือดขยายตัวทั้งร่างกาย เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจึงทำให้เป็นลม และหมดสติได้ง่าย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจแล้วเป็นลม อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจโดยเฉพาะการเต้นผิดจังหวะของหัวใจอย่างฉับพลัน ซึ่งถ้ารุนแรงมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ในกรณีนี้ก่อนที่จะเป็นลม มักจะมีอาการแน่นหน้าอก หรือใจสั่นนำมาก่อน แต่ถ้าอายุมากถึงแม้ไม่มีอาการนำ เพียงแค่เป็นลมธรรมดา ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง
สำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ในยาลดความดันบางชนิด จะมียาขับปัสสาวะอยู่แล้ว เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมาก จะทำให้ความดันต่ำกว่าความเป็นจริงได้ เช่น เคยคุมความดันได้อยู่พอดิบพอดี แต่พอหน้าร้อน เสียเหงื่อมาก ดื่มน้ำไม่พอ ทำให้ความดันต่ำกว่าจริงก็จะส่งผลทำให้เกิดการเป็นลมหรือการทำงานของไตแย่ลงได้ ยาลดความดันที่ทานๆ กันอยู่ เช่น Taiazide ยาลดปัสสาวะ Lasix
อาจารย์อธิบายว่าถ้าความดันเริ่มต่ำผิดปกติให้สังเกตจากการเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนั่งเป็นยืน แล้วรู้สึกวูบๆ หรือมึนศีรษะ แสดงว่าความดันเริ่มต่ำลง หลายคนที่ต้องรับประทานยากลุ่มนี้อาจหงุดหงิด เผลอๆ แอบลดยาลงซึ่งอาจารย์บอกว่า ไม่ควรลดยา เพราะยาที่ได้จะปรับตามปัสสาวะที่ร่างกายขับออกมา ไม่ได้ปรับตามเหงื่อที่ขับออกมา ปัญหาเกิดจากการเสียเหงื่อเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในช่วงหน้าร้อน อาจารย์แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ  ไม่ต้องเป็นกังวลว่าดื่มน้ำมากไปแล้วจะเป็นอันตราย ต่อคนที่เป็นโรคหัวใจ  ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าระบบการทำงานของไตยังดีอยู่หรือไม่ ถ้าไตทำงานปกติดีสิ่งที่ต้องกลัวคือการทานเค็มมากเกินไปจะทำให้โรคหัวใจเกิดภาวะการคั่งของเกลือ  เพราะยาขับปัสสาวะออกฤทธิ์โดยผ่านทางการขับเกลือเป็นหลัก และเกลือจะดูดน้ำ เมื่อเกลือออกจากร่างกาย น้ำก็ออกตาม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการทานเค็มเป็นดีที่สุด 
เมื่อเป็นลมแล้ว หลายคนมีความเชื่อว่า “ควรจิบน้ำหวานเพื่อให้รู้สึกสดชื่นขึ้น” ข้อความนี้จะเป็นจริงสำหรับกรณีที่น้ำตาลในเลือดต่ำ อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งรับประทานยาเบาหวานมากเกินไป พอน้ำตาลต่ำทำให้เป็นลมได้ ดังนั้นการทานน้ำหวานจึงช่วยได้ แต่กรณีอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากน้ำตาลต่ำเพราะฉะนั้นเพียงแค่ดื่มน้ำเปล่าก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
ไหนๆ พูดเรื่องเป็นลม เพราะเสียเหงื่อแล้ว อาจารย์เลยแถมให้อีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยช่วงหน้าร้อน คือ ตะคริว เพราะอากาศร้อนทำให้สูญเสียเหงื่อได้มาก สิ่งที่ออกมากับเหงื่อนั้นมีทั้งน้ำและเกลือแร่ โดยเกลือแร่ที่ออกมากับเหงื่อนั่นคือ ร่างกายสูญเสียโปแตสเซียม ทำให้เกิดเป็นตะคริวได้ แต่ตะคริวที่เป็นแล้วย้ายที่ไปได้เรื่อยๆ นั้นไม่น่ากลัว จะมีตะคริวอีกแบบที่น่ากลัวคือ เป็นอยู่ที่เดิมซ้ำๆ บ่อยๆ  ทุกๆ วัน นั่นหมายถึง อาจจะมีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังทับรากประสาท  เพราะการเป็นตะคริวแบบนี้ คือ มีการกระตุ้นที่ปลายประสาทซ้ำๆ  ระบบประสาทปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องไม่หยุด ทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่คลาย จึงเกิดเป็นตะคริวอยู่ที่เดิม ถ้าใครมีอาการแบบนี้ล่ะก็ควรรีบปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
 กลุ่มคนที่มักมีปัญหาในช่วงหน้าร้อน
  1. คนที่ไม่อยากออกกำลังกาย เพราะอากาศร้อนทำให้เสียเหงื่อมาก พอทานอาหารเข้าไปมาก กอปรกับไม่อยากออกกำลังกาย เป็นสาเหตุทำให้เบาหวานแย่ลง ไขมันในเลือดสูงขึ้น ทำให้เป็นโรคอ้วน แล้วก็จะส่งผลตามมาคือโรคหัวใจ ในช่วงหน้าร้อนอาจารย์แนะนำให้ออกกำลังกายโดยการเข้า  fitness หรือว่ายน้ำก็ได้ เพราะอุณหภูมิของห้องแอร์และความเย็นของน้ำจะช่วยให้ร่างกายไม่เสียเหงื่อมาก
  2. คนที่รักการออกกำลังกายและไม่ยอมหยุดออกกำลังกายในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะกลางแจ้ง เช่นการวิ่ง หรือตีกอล์ฟ ร่างกายจะเสียเหงื่อมากกว่าปกติเพื่อปรับตัวในการระบายความร้อนให้ทัน ถ้าดื่มน้ำทดแทนไม่เพียงพอ ทำให้เหงื่อออกน้อยหรือไม่ออก ร่างกายก็จะระบายความร้อนไม่ทัน ทำให้เป็นลมได้ง่าย อีกทั้งของเสียที่ถูกขับออกทางไตต้องทำงานหนัก อาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวายได้ง่าย วุ่นวายเข้าไปอีก
 การดูแลตัวเองในช่วงหน้าร้อน
  1. ทานอาหารอย่างมีสติ อย่าลืมตัวไปกับผลไม้หน้าร้อน ที่มีคอเลสเตอรอลและไตกรีเซอไรสูง จะส่งผลให้คุณเป็นโรคอ้วนซึ่งจะนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ง่าย รวมทั้งโรคหัวใจ
  2. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬากลางแจ้งที่ต้องเสียเหงื่อปริมาณมาก
  3. ดื่มน้ำให้มากๆ ในภาวะปกติร่างกายคนเราจะต้องการน้ำประมาณ 1,600-1,800 CC ต่อวัน  แต่หากในช่วงหน้าร้อน ทำให้เราต้องเสียเหงื่อมากขึ้น ในขณะที่เราสังเกตได้ด้วยตัวเอง ควรดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ  2,000-2,500 CC
ผลไม้หน้าร้อนที่ควรหลีกเลี่ยง
อาจารย์บอกว่าหน้าร้อนมีผลไม้อร่อยๆ ออกมาเยอะแยะ แล้วแต่ละอย่างมีทั้งน้ำตาลและแป้งสูงทั้งนั้น ทานเข้าไปมากๆ ก็ทำให้อ้วน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือคอเลสเตอรอลสูงยิ่งควรระวังให้มาก อย่าได้เผลอเป็นอันขาด
อาจารย์เลยขอจัดอันดับความร้ายกาจของผลไม้หน้าร้อน ที่มีแต่แป้งและน้ำตาลสูง ไว้เตือนใจตามลำดับดังนี้ อันดับหนึ่งต้องขอยกให้ทุเรียน ทั้งกลิ่นและรสชาติที่หวานสะใจ ทานเข้าไปไม่เท่าไหร่มีหวังอ้วนฉุทันตาเห็น  แต่ทุเรียนยังมีข้อดีที่กลิ่นฝุ้งกระจายไปทั่วสารทิศ ทำให้บางคนที่ทนกลิ่นไม่ไหว พากันปวดหัว แล้วก็ทานกันไม่ได้เลยทีเดียว เรียกว่าเป็นโชคของคนนั้นไป รองลงมาก็คือขนุนและมะม่วง บางคนคิดว่าเฉพาะมะม่วงสุกเท่านั้นที่ทานแล้วอ้วน  จริงๆ แล้วมะม่วงดิบแม้จะมีน้ำตาลน้อยกว่าแต่ก็มีแป้งเป็นส่วนประกอบเยอะ ทานมากๆ ก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน  ถัดมาก็คือ กล้วย อาจมีประโยชน์สำหรับเด็ก เพราะร่างกายต้องการการเจริญเติบโต แต่สำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนเป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงเพราะทั้งแป้งและน้ำตาลสูง ผลไม้ชนิดหนึ่งที่คุณหมออยากแนะนำให้ทานก็คือ  แตงโม เพราะแตงโมมีน้ำตาลไม่มาก แต่มีน้ำมากนัก  ทานแล้วเย็นชื่นฉ่ำ ดับกระหาย คลายร้อนได้อย่างดีทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น