ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้ ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ภาวะนี้พบได้ประมาณ 15% ของคู่สมรส หรือ 15 คู่ ใน 100 คู่สมรสที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ จะเห็นว่ามีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติ และจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการช่วยให้ตั้งครรภ์
สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก เกิดได้จาก
- ฝ่ายชายประมาณ 40%
- ฝ่ายหญิงประมาณ 50%
- ไม่พบสาเหตุประมาณ 10-15%
สาเหตุของการมีบุตรยากในฝ่ายชาย (male factor) เกิดจากความผิดปกติของน้ำเชื้ออสุจิ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ส่วนสาเหตุของการมีบุตรยากในฝ่ายหญิง อาจเกิดจาก
- ความผิดปกติของท่อนำไข่และเยื่อบุช่องท้องพบได้ประมาณ 35%
- ความผิดปกติของการตกไข่พบได้ประมาณ 35%
- ความผิดปกติของมดลูก และปากมดลูก พบได้ประมาณ 5%
- ความผิดปกติของช่องคลอด ซึ่งพบได้น้อยมาก
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด, โรคประจำตัว, มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ในปัจจุบันสตรีมีหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้แต่งงานสร้างครอบครัวช้า จึงแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ ทำให้มีบุตรยากขึ้น ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากได้ ดังนั้นการตรวจหาสาเหตุและรักษาภาวะมีบุตรยากจึงจำเป็นต้องตรวจรักษาทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
การรักษาภาวะมีบุตรยาก
ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากและรักษาสาเหตุที่แก้ไขได้ แต่มีหลายสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology:ART) ช่วยให้คู่สมรสมีบุตรได้
อัตราการตั้งครรภ์นี้ขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิงด้วย ถ้าฝ่ายหญิงอายุน้อย โอกาสสำเร็จจะสูง และโอกาสการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนรอบของการรักษาด้วย
การผสมเทียม หรือการฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination (IUI))
เป็นวิธีที่ง่าย ๆที่แพทย์จะใช้เครื่องมือฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงในช่วงที่ไข่ตก เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันเองระหว่างไข่ กับอสุจิ โดยหลังจากการฉีดเชื้อจะให้ฝ่ายหญิงนอนพักประมาณ 10-20 นาที วิธีนี้มีอัตราการตั้งครรภ์ ประมาณ 10-15 % ต่อรอบการรักษา
วิธีนี้เหมาะสำหรับคู่สมรสที่อายุยังไม่มาก และสาเหตุของภาวะมีบุตรยากเกิดจากฝ่ายชาย (male factor) หรือเป็นภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ (unexplained infertility)
วิธีนี้มีข้อจำกัด คือใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ที่ปกติ ไม่อุดตัน และฝ่ายชายควรมีตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้อย่างน้อย 5 ล้านตัว
โดยทั่วไปโอกาสตั้งครรภ์ตามธรรมชาติในแต่ละรอบเดือนของคู่สมรสที่ปกติคือ 20-25 % ในกรณีที่ฝ่ายหญิงอายุตั้งแต่ 35 ปีขี้นไป แค่15 % แต่คู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากจะมีอัตราตั้งครรภ์ที่น้อยกว่านี้มาก
ดังนั้นการฉีดเชื้ออสุจิจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้ใกล้เคียงปกติ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุของการมีบุตรยาก และอายุของฝ่ายหญิงด้วย ในบางกรณีอาจพบอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่านี้ได้
ความเสี่ยงจากการทำ IUI
- ในการกระตุ้นไข่ร่วมกับการทำ IUI อาจพบปัญหากระตุ้นไข่ไม่สำเร็จหรือ รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปได้
- การตั้งครรภ์แฝด
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การแท้ง
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
การทำกิ๊ฟ (Gametes Intrafallopian Tube Transfer (GIFT))
เป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์วิธีหนึ่งซึ่งมีมาก่อนเด็กหลอดแก้ว โดยมีการนำเซลล์ไข่และอสุจิที่ยังไม่ได้ปฏิสนธิกัน ย้ายเข้าไปใส่ในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงโดยการผ่าตัดส่องกล้อง โดยคาดหวังว่า ไข่และอสุจิจะปฏิสนธิกันเอง เจริญไปเป็นตัวอ่อนและเดินทางไปฝังตัวในโพรงมดลูกจนเกิดการตั้งครรภ์ได้ วิธีนี้มีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 30% ต่อรอบการรักษา
ข้อจำกัด คือ ฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง และต้องใช้การผ่าตัดส่องกล้องด้วยทำให้ฝ่ายหญิงต้องเสี่ยงต่อการดมยาสลบและการผ่าตัดในช่องท้อง
การปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization (IVF))
การทำเด็กหลอดแก้วหรือการปฏิสนธินอกร่างกาย เป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์วิธีหนึ่งที่มีการนำเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงและตัวอสุจิของฝ่ายชายมาผสมกันในจานทดลองภายในห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน เมื่อเกิดการปฏิสนธิ มีการแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อน แพทย์จะทำการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
ตัวอ่อนอาจอยู่ในระยะ 4 เซลล์หรือ 8 เซลล์ หรือระยะบลาสโตซิสต์ ขึ้นกับระยะเวลาที่เลี้ยงและคุณภาพของตัวอ่อนในคนไข้แต่ละราย ถ้าตัวอ่อนคุณภาพดีมีจำนวนมากจะสามารถเลี้ยงถึงระยะบลาสโตซิสต์ได้ (Blastocyst Culture) ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของตัวอ่อนก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
คู่สมรสที่ควรได้รับการรักษาด้วยการปฏิสนธินอกร่างกาย
- ท่อนำไข่อุดตัน
- มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมาก
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ปัญหาเชื้ออสุจิมีความผิดปกติ
- ภาวะมีบุตรยากที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
- ภาวะมีบุตรยากมาเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ
Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI) อิ๊กซี่ เป็นวิธีช่วยการปฏิสนธิโดยการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ ในการทำเด็กหลอดแก้ว จากนั้นทำการเลี้ยงตัวอ่อนตามขั้นตอนของการทำเด็กหลอดแก้วทุกประการ นิยมใช้ในกรณีที่อสุจิมีน้อยผิดปกติ หรือฝ่ายชายน้ำเชื้ออสุจิมีน้อยมากต้องใช้การผ่าตัดเพื่อนำอสุจิจากอัณฑะมาใช้ เช่น พีซ่า PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration), ทีซ่า /เทเซ่TESA/TESE (Testicular Sperm Aspiration /Extraction)
อัตราความสำเร็จ
อัตราการตั้งครรภ์จากการรักษาด้วยวิธีนี้ประมาณ 30% ทั้งนี้ขึ้นกับอายุฝ่ายหญิงและคุณภาพอสุจิด้วย อัตราการตั้งครรภ์แฝดอาจพบได้ถึง 30% อัตราการเกิดทารกที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด จากการรักษาด้วยวิธีนี้ ไม่แตกต่างจากทารกที่เกิดจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ
โดยทั่วไปโอกาสที่จะตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ในแต่ละรอบเดือนหนึ่ง ในคู่สมรสที่ปกติคือ 20-25% เท่านั้น แต่ในคู่สมรสที่มีบุตรยากโอกาสที่จะตั้งครรภ์ตามธรรมชาติในแต่ละรอบเดือนจะต่ำกว่านี้มาก ซึ่งการรักษาภาวะมีบุตรยากจะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในผู้มีบุตรยากให้ใกล้เคียงกับคนปกตินั่นหมายความว่าอาจต้องมีการรักษามากกว่าหนึ่งรอบเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นถึง 70%
การตรวจโครโมโซมก่อนการฝังตัวของตัวอ่อน (PGD)
PGD คือการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม ก่อนการฝังตัวของตัวอ่อนอย่างละเอียดในระดับยีน และโครโมโซม ทำให้เราสามารถคัดกรองเอาตัวอ่อนที่มีความผิดปกติออกไปได้ อาทิ ในรายที่มียีนแฝงของโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นต้น
ใครควรจะต้องเข้ารับบริการทำ PGD
คู่สมรสที่มีความเสี่ยงสูงในการมีทารก ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น มารดาอายุเกิน 35 ปี มีประวัติการแท้งซ้ำ มีประวัติความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม ทั้งในส่วนของโครโมโซม และ ยีน
นอกจากนี้ในรายที่มีปัญหามีบุตรยาก ได้รับการทำเด็กหลอดแก้วหลาย ครั้ง ไม่ประสบผลสำเร็จ สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากตัวอ่อนที่ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกมีโครโมโซมที่ผิด ปกติ ดังนั้นการทำ PGD จะช่วยให้เราคัดเลือกเฉพาะตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติเท่านั้น ใส่กลับเข้าโพรงมดลูก และพบว่าจะทำให้โอกาสการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้
วิธีการตรวจวิเคราะห์ทาง PGD มี 2 วิธีดังนี้
1. FISH
เป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ต้องใช้ตัวจับจำเพาะ ที่มีความสามารถในการเรืองแสง( fluorescent probe) กับโครโมโซมคู่ที่ต้องการตรวจ โดยทำการดูดตัวอย่างเซลล์มาทำการย้อม และตรวจดูภายในกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ (fluoresent microscope) จะทำให้เราสามารถตรวจนับ จำนวนโครโมโซมที่ขาดหรือเกินได้ โดยทั่วไปในประเทศไทยนิยมใช้ probe ชนิด 5 สี เพื่อตรวจดูโครโมโซม X,Y,13,18 และ 21 เป็นต้น
2.PCR
เป็น การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของตัวอ่อนในระดับยีน โดยหลังจากการดูดตัวอย่างเซลล์มาแล้ว จะต้องนำไปเพิ่มจำนวนของ DNA ให้ได้ปริมาณมากพอแล้วจึง นำไปตรวจหาโรคผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย, Cystic fibrosis เป็นต้น
ขั้นตอนในการทำ PGD โดยวิธี FISH หลังจากเข้ารับบริการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ICSI เพื่อให้มีตัวอ่อนจำนวนมากพอในการตรวจวิเคราะห์
1. เลี้ยงตัวอ่อนเหล่านั้น ให้โตถึงระยะที่เหมาะสม
2. ทำการดูดเซลล์ออกมาจากตัวอ่อน เพื่อใช้เป็นตัวแทนเซลล์ในการทดสอบ
3. นำเซลล์ที่ได้ไปย้อมกับ Specfic probe ที่เรืองแสง อ่านผลที่ได้ภายใต้ fluorescent microscope ร่วมกับการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์
ทำ PGD มีผลกระทบต่อพัฒนาการของตัวอ่อนหรือไม่
จากการศึกษาพบว่า การดูดตัวอย่างเซลล์ 1-2 เซลล์ ในระยะ 6-8 เซลล์ และการดูดเซลล์ ส่วนที่จะกลายเป็นรก (Trophectoderm) ในระยะ blastocyst ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน และเด็กทารกที่เกิดจะมีอัตราความผิดปกติแต่กำเนิด ใกล้เคียงกับทารกที่เกิดโดยการทำเด็กหลอดแก้วทั่วไป
(ร้อยละ 1.7)
ข้อจำกัดในการตรวจ PGD
ในปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมมนุษย์ได้ครบทั้ง 23 คู่ ( 46 โครโมโซม) โดยทั่วไปเราจึงนิยม ตรวจเฉพาะโครโมโซมที่เป็นปัญหาบ่อย 5 คู่ หรือ 7 คู่เท่านั้น ได้แก่ โครโมโซมคู่ที่ 13,18,21,X, และ Y โดยวิธีการที่เรียกว่า Fluorescent in Situ Hybridisation - FISH และถ้าต้องการตรวจโรคที่ถ่ายทอดโดยยีนเดี่ยว (Single gene defect) ต้องทำโดยวิธี Polymerase chain reaction (PRC) ซึ่งจะเป็นการตรวจเฉพาะโรคนั้นๆ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
กลุ่มอาการที่รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome:OHSS) ในการรักษาภาวะมีบุตรยากต้องมีการใช้ยากระตุ้นไข่ตกเพื่อให้ได้ไข่หลายใบจึงจะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้ ยาอาจทำให้ได้จำนวนไข่มากและมีไข่ตกมากถึง 20 ใบได้ หลังไข่ตกผู้ป่วยที่มีภาวะ OHSSจะมีอาการท้องอืด มีน้ำในช่องท้อง หายใจลำบาก เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองใน 2-3 สัปดาห์ ถ้าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ถ้ามีอาการมากอาจต้องนอนพักในโรงพยาบาล
การตั้งครรภ์แฝด อาจพบได้ถึงร้อยละ 30 ของการรักษาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากมีไข่ตกหลายใบจากยากระตุ้นไข่ตก แต่ปัจจุบันในการทำเด็กหลอดแก้วแพทย์จะใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกน้อยลงโดยมักใส่ไม่เกิน3 ตัวอ่อน ในต่างประเทศมีการใส่เพียง 1- 2 ตัวอ่อนเท่านั้น เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์แฝดเนื่องจากการตั้งครรภ์แฝด จะมีปัญหาตามมาทั้งต่อมารดา และทารก เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด สูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และ เวลาทำการ
ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยเฉพาะ
ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8-17 น.
ART Night Clinic (คลินิกพิเศษสำหรับผู้มีบุตรยาก) ทุกวัน จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17-20 น.
สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่ศูนย์ผู้มีบุตรยาก ชั้น 4 โทร 0-2378-9129-30
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สูติ นรีแพทย์ดูแลหญิงตั้งครรภ์ อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy) ผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคปทางนรีเวชและรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก
แพทย์หญิงณัฐยา รัชตะวรรณ
สูติ นรีแพทย์ดูแลหญิงตั้งครรภ์ อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy) ผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคปทางนรีเวชและรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก
สูติ นรีแพทย์ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคปทางนรีเวช รักษาผู้ป่วยมีบุตรยากและสตรีวัยทอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์
สูติ นรีแพทย์ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคปทางนรีเวชและรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก
สูติ นรีแพทย์ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก
แพทย์หญิงนุชชฎา แก้วเกิด
สูติ นรีแพทย์ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก