วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

IVM ความสุขของผู้มีบุตรยาก

     คนไข้ชาวญี่ปุ่นรายนี้แต่งงานกับสามีชาวญี่ปุ่นมาได้ 10 ปีแล้ว ปัจจุบันย้ายตามสามีที่กลับมาทำงานที่เมืองไทย เพราะเหตุนี้ทั้งคู่จึงได้มาปรึกษาภาวะมีบุตรยากกับผมเมื่อราวเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เธอเล่าให้ฟังว่าสมัยอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ลองทำการรักษามาหลายวิธีแต่ก็ยังไม่สามารถมีลูกได้ ประกอบกับอายุที่เริ่มจะมากเกินไปสำหรับการตั้งครรภ์ การรักษาครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าแทบจะเป็นความหวังครั้งสุดท้ายของคนทั้งคู่ และแน่นอนว่าผม คือผู้แบกรับความหวังนั้น



     ในช่วงแรกที่คนไข้มาปรึกษา ผมได้เสนอทางเลือกที่เป็นไปได้หลายวิธีให้พวกเขาตัดสินใจ และสุดท้ายคนไข้ก็ยังยืนยันจะใช้วิธีเทคโนโลยีขั้นสูงช่วยในการเจริญพันธุ์ หรือ ART(Assisted Reproductive Technology) ซึ่งเป็นการฉีดฮอร์โมนเพื่อไปกระตุ้นรังไข่โดยตรง ทำให้มีไข่สมบูรณ์หลายใบ เพิ่มโอกาสที่จะมีไข่ที่สมบูรณ์เพื่อทำการฉีดเชื้อเข้าไปปฏิสนธินอกร่างกาย จนเกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อน แล้วค่อยนำกลับเข้าไปฝังในโพรงมดลูกให้เกิดการเติบโตตามธรรมชาติต่อไป ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับคนไข้รายนี้แล้ว เธอต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกถึง 2ครั้งติดต่อกัน เพราะบังเอิญคนไข้มีถุงไข่เพียงใบเดียว ซึ่งผมพิจารณาแล้วว่าอาจจะต้องหยุดการรักษาเพราะโอกาสสำเร็จมีค่อนข้างน้อย แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่ย่อท้อและยืนยันจะทำการรักษาต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะหาวิธีทำให้ความฝันของทั้งคู่เป็นจริงให้ได้ การรักษาจึงเดินหน้าต่อไป



     หลังจากนั้นผมได้ฉีดฮอร์โมนให้เธอเพื่อกระตุ้นถุงไข่ใบเดียวและเก็บไข่ได้ 1 ใบ แทบไม่ต่างจากรอบเดือนธรรมชาติที่มีเพียง 1 ใบ  ไข่ที่ได้นั้นยังอยู่ในสภาพอ่อนไม่สมบูรณ์ ที่ไม่พร้อมต่อการฉีดน้ำเชื้ออีกด้วยเป็นความผิดหวังครั้งที่ 2 จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ผมเลือกวิธีไอวีเอ็ม (In Vitro Oocyte Maturation,IVM) มาช่วยเสริมการรักษา ไอวีเอ็ม เป็นวิธีการนำไข่อ่อนที่มีสภาพยังไม่สมบูรณ์มาเลี้ยงให้โตเต็มที่ในห้องปฏิบัติการด้วยน้ำยาและฮอร์โมน ซึ่งตามปกติแล้วถ้าเป็นการรักษาตามมาตรฐานปกติของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยทั่วไป หากไข่ไม่สมบูรณ์ก็ต้องทิ้งไป แต่ในรายนี้ผมนำไข่อ่อนออกมาเลี้ยงต่อ 24 ชั่วโมง ไข่ก็สมบูรณ์พร้อมต่อช่วยการปฏิสนธิ โดยทำการฉีดเชื้อเข้าไปปฏิสนธินอกร่างกาย หลังเสร็จสิ้นกระบวนการก็ย้ายตัวอ่อนเข้าไปฝังในโพรงมดลูกให้เจริญเติบโตต่อไป และจากผลการตรวจครั้งล่าสุดคนไข้รายนี้ก็ตั้งท้องสมใจ ปัจจุบันทั้งคู่มีความสุขมากและเฝ้ารอวันที่จะเห็นหน้าทารกน้อยที่พวกเขารอคอยมานาน และเมื่อถึงวันนั้น ไม่ว่าผมจะได้เป็นคนทำคลอดให้ทั้งคู่หรือไม่ แต่ภาพรอยยิ้มทั้งน้ำตาในวันที่พวกเขาทราบว่ามีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้อง ก็จะเป็นความทรงจำที่ดีของผมตลอดไป  เป็นนวตกรรมใหม่สำหรับการนำ ไอวีเอ็ม มาใช้ในการักษาต่อยอดจากการรรักษาตามมาตรฐานปกติของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ คาดหวังว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลูกตามความสมใจมากขึ้น



     ส่วนอีกรายเป็นคนไข้หญิงสาวชาวไทย ถือว่าเป็นคนไข้ไอวีเอ็มคนแรกของประเทศก็ว่าได้ เธออายุยังน้อย อยู่ในวัยที่พร้อมเต็มที่ในการมีบุตร แต่เพราะเธอมีปัญหาบริเวณปีกมดลูก จนทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกถึง 2 ครั้งทำให้ท่อนำไข่ทั้งสองข้างของเธอถูกตัดทิ้งไป นั่นหมายความว่า การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเธออีกแล้ว และเพื่อช่วยให้ความต้องการมีบุตรของครอบครัวนี้ประสบความสำเร็จ ผมได้เลือกวิธีทำเด็กหลอดแก้วในการรักษา คือ ใช้วิธีฉีดฮอร์โมนเพื่อให้มีไข่ตกหลายใบ ก่อนนำอสุจิมาทำการปฏิสนธินอกร่างกาย ก่อนย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกต่อไป แต่การรักษาไม่ราบรื่นอย่างที่คาด เพราะปรากฎว่ารังไข่ของคนไข้นั้นมีลักษณะพิเศษที่พบไม่บ่อยนัก เรียกว่า Polycystic Ovary หรือภาวะมีถุงไข่ขนาดเล็กในรังไข่มากกว่าปกติ ตามธรรมชาติแล้วผู้หญิงทั่วไปจะมีถุงไข่เพียงข้างละ 4-5 ถุง แต่รายนี้มีเป็นสิบ ทำให้หลังจากระตุ้นด้วยฮอร์โมนคนไข้มีไข่มากถึง 40 ฟองพร้อมกัน ซึ่งไม่ดีต่อร่างกายเพราะจะทำให้เกิดเส้นเลือดรั่วเป็นโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่าบวมน้ำ จนอาจทำให้มีน้ำในช่องท้องมากกระทั่งลามไปท่วมปอดได้



    หลังจากอธิบายความเสี่ยงดังนี้ สามีคนไข้จึงตัดสินใจยุติการรักษา และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้แนะนำให้คนไข้ใช้วิธีไอวีเอ็ม ที่ไม่ต้องกระตุ้นด้วยฮอร์โมนให้มีไข่จำนวนมากพอ ลดความเสี่ยงของแม่ แค่เพียงนำไข่ที่ได้ออกมาเลี้ยงด้วยฮอร์โมนข้างนอกร่างกาย จนไข่สมบูรณ์พร้อมปฏิสนธิ จึงนำกลับเข้าสู่โพรงมดลูกให้เติบโตตามปกติ จนในที่สุดคนไข้รายนี้ก็ได้ทารกแฝดชายหญิง เติบโตอยู่ในครรภ์ การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างเรียบร้อยจนกระทั่งถึงเดือนที่เจ็ด คนไข้เกิดปวดท้องต้องผ่าคลอด และแล้วทารกแฝดก็คลอดออกมาอย่างปลอดภัยแม้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง จนเมื่อแข็งแรงดีก็กลับบ้านได้ ปัจจุบันตัวอ่อนในคราวนั้นยังถูกเก็บไว้ในห้อปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน หากคนไข้อยากมีลูกอีกเมื่อไหร่ก็สามารถกลับมาใช้ตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ได้เสมอ และนี่คือเรื่องราวของคนไข้ไอวีเอ็มรายแรกของไทยที่การตั้งครรภ์เกิดเมื่อปี 2551



      จะเห็นได้ว่า ไอวีเอ็ม คือ วิธีช่วยเหลือผู้มีบุตรยากทางเลือกหรือเสริมการรักษาในปัจจุบันที่น่าจะได้ผลดียิ่งขึ้นในปัจจุบันรวมทั้งเป็นวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติและปลอดภัยมากที่สุด เพราะไม่ต้องเจ็บตัวหรือเสี่ยงกับผลแทรกซ้อนจากการฉีดฮอร์โมน ระยะเวลาที่ใช้ก็สั้นกว่าและค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าการฉีดฮอร์โมนด้วย และมาตรฐานการรักษาด้วยวิธีนี้ในประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นผู้นำในภูมิภาค นับเป็นอีกทางเลือกที่ดีมากสำหรับคู่แต่งงานที่ประสบปัญหามีบุตรยาก



ผู้เขียน: นพ.บุญแสง วุฒิพันธุ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะมีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

ปรึกษาปัญหาโรคทางนรีเวชและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์สำหรับผู้มีบุตรยากกับ นพ.บุญแสง ได้ที่อีเมล boonsaeng@samitivej.co.th หรือโทร.0-2711-8000

























Resource: Health @ Cusine Magazine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น