วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไวรัสโรตาคืออะไร?





ไวรัสโรตา คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบที่พบบ่อยในเด็กเล็กในประเทศไทยพบโรคนี้มากน้อยเพียงใด เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคท้องเสีย  พบเชื้อไวรัสโรตาเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 40-50   พบมากที่สุดในเด็กอายุ 7-12 เดือน  และมักพบผู้ป่วยโรคนี้มากในช่วงเดือนที่มีอากาศแห้งและค่อนข้างเย็น (พฤศจิกายน – มกราคม)



เด็ก ๆ ติดเชื้อนี้ได้อย่างไร

ไวรัสโรตาสามารถแพร่กระจายได้อย่างง่ายดาย  เพียงแต่มือไปสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ เช่น ของเล่น  สิ่งของเครื่องใช้   หรือ พื้นผิวทั่วไป   แล้วนำเข้าปากก็ติดเชื้อได้แล้ว   เชื้อไวรัสโรตาสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้นานเป็นวัน ๆ



เด็ก ๆ รับเชื้อไวรัสโรตาแล้วมีอาการอย่างไร


หลังจากได้รับเชื้อ 1-2 วัน  เด็กจะมีอาการอาเจียน  ไข้  ในระยะแรกอาการอาเจียนค่อนข้างรุนแรง  วันต่อมาจะมีท้องเสีย  ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงได้เช่นเดียวกัน ทำให้พบอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้บ่อย ๆ  ส่วนใหญ่อุจจาระมีลักษณะเป็นน้ำ  กลิ่นคาว  ไม่ค่อยพบมีมูกเลือดปน    ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้ภายในเวลา 5-8 วัน



แพทย์ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้อย่างไร

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส  ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโรตา  คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยของท่านในเบื้องต้นได้   โดยไม่ควรให้นมในขณะที่เด็กเริ่มมีอาการอาเจียน ควรให้น้ำเกลือแร่ทีละนิดทีละน้อย   ถ้ายังมีอาเจียน ควรพามาพบแพทย์ทันที   ถ้ามีอาการขาดสารน้ำและเกลือแร่  แพทย์มักจำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำและเกลือแร่ทางเส้นเลือดดำ



เราจะป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อไวรัสโรตาได้อย่างไร


สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ คือ สุขอนามัยของสมาชิกในครอบครัว และบริเวณที่ลูกชอบเล่น  รวมทั้งของเล่นต่าง ๆ ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน และโรงเรียนอนุบาล  มักพบว่าเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อ ควรสอนให้สมาชิกในครอบครัวและในโรงเรียนเห็นความสำคัญของการล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร  รวมทั้งหลังออกจากห้องน้ำ  ไม่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารและดื่มน้ำร่วมกัน



การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่จะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ได้บ้าง

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรตา แนะนำให้ในเด็กอายุ 2-6 เดือน  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถขอคำแนะนำได้จากกุมารแพทย์ในโรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น