วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภัยใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม... โรคหลอดเลือดหัวใจ

          โลกเปลี่ยนแปลง ค่านิยมเปลี่ยนไป เสียงสะท้อนจากสังคมในยุคสมัยเต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ช่วงชีวิตการทำงานของหลายๆ คนที่ต้องอยู่ภายในออฟฟิศ นั่งโต๊ะคอมพิวเตอร์ เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสังคมจนอาจหลงลืมไปว่า... ร่างกายของคุณกำลังต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษจากตัวคุณเองมากที่สุดในยามนี้้

          เมื่อความแข็งแรงของร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน เวลาในการออกกำลังกายไม่มี ช่วงเวลาเร่งด่วนของสังคมเมืองกับมื้ออาหารยอดนิยมจำ พวกฟาสต์ฟู้ดส์นั่นล่ะครับ.. พฤติกรรมมนุษย์เงินเดือนในสังคมปัจจุบันที่คุณอาจไม่คาดคิดถึงโรคภัยไข้เจ็บที่จะถามหาโดยเฉพาะ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีและเป็นปัจจัยให้ช่วงอายุของคนในปัจจุบันเริ่มมีอาการของโรคหัวใจอยู่ในวัยที่ไม่สูงมากนัก เรียกว่าโอกาสความเสี่ยงเข้าขั้นวิกฤตก็ว่าได้ ในช่วงเดือนแห่งความรักนี้ ผมจึงอยากให้คุณผู้อ่านเริ่มต้นด้วยการรักตัวเอง หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายบ้าง และเรียนรู้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้นก่อนที่จะให้คนอื่นต้องมาดูแลเราเมื่อร่างกายอ่อนแอ

          ผมขออธิบายง่ายๆ ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจมี สาเหตุมาจาก plaque เกาะอยู่ด้านในของเส้น เลือดซึ่งเกิดขึ้นจากไขมัน คอเลสเตอรอลและสารอื่นๆ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า atherosclerosis หรือเป็นภาวะที่เส้นเลือดแข็งกว่าปกติ Plaque คือต้นเหตุที่ทำให้เส้นเลือดแดงตีบลง และปริมาณเลือดที่ไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลงและอาจจะเกิดลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังเส้นเลือด เกิดภาวะอุดตันในเส้นเลือดส่งผลให้หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันจนคุณเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก (angina) หรือ หัวใจวาย (heart attack) ได้ในที่สุด


ข้อบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนที่คุณควรทราบ
          ส่วนใหญ่อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคเส้นเลือดหัวใจคือ อาการเจ็บหน้าอกหรือที่เรียกว่า angina จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเจ็บบีบๆ อยู่ในอก ลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ การปวดร้าวไปตามหัวไหล่ แขน คอ คาง และ หลัง โดยอาการจะแย่ลงเมื่อมีการออกแรงแต่จะดีขึ้นเมื่อได้พัก

          ขณะที่อาการอีกแบบที่พบมาก คือการหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อยง่าย หากปล่อยให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจไปนานๆ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว heart failure ซึ่งหัวใจจะไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เมื่อจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ


ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ต้องพึงระวัง
          ความเสี่ยงมักมาพร้อมกับการดูแลร่างกายที่ผิดพลาดหรือไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ดังนั้น สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามและควรที่จะหันมาทบทวน มีดังนี้
          • ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยมีระดับ LDL cholesterol สูง และ HDL cholesterolตํ่ากว่าปกติ
          • ความดันโลหิตสูงจากเกณฑ์วัด 140/90 mmHg. ขึ้นไป
          • ภาวะเส้นเลือดแข็งกว่าปกติ ความดันโลหิตสูงขึ้นเนื่องจากการสูบบุหรี่
          • โรคเบาหวาน
          • นํ้าหนักเกินมาตรฐาน
          • ภาวะ Metabolic syndrome กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน
          • การไม่ออกกำลังกาย ช่วงอายุที่มากกว่า 45 ปีของผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี
          • ประวัติคนในครอบครัวมีคนเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ควรพิจารณา
          C-reactive protein (CRP) ระดับโปรตีนที่สูงกว่าปกติ แสดงถึงว่ามีการอักเสบหรือการบาดเจ็บของเส้นเลือดซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น
          Sleep apnea เป็นความผิดปกติของระบบการหายใจในขณะนอนหลับ อาจหายใจสั้นตื้น หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ
          Homocysteine เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อใช้สร้างและทดแทนเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว ถ้ามีระดับสารนี้สูงเกินไปจะมีความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
          Fibrinogen เป็นโปรตีนที่จำเป็นในการทำให้เกิดลิ่มเลือด แต่ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้มีการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและก่อให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดทั้งที่สมองหรือหัวใจได้ Lipoprotein (a) เป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไขมัน LDL ไปเกาะกับโปรตีน ทำให้กลไกการป้องกันลิ่มเลือดผิดปกติ ความเครียดจากการทำงานหรือครอบครัวหรือการดื่มแอลกอฮอล์ของมึนเมา


ระบบขั้นตอนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
          สิ่งสำคัญที่สุดต้องบอกว่า คุณต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งระบบ ด้วยการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและในบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการทำหัตถการตามความจำเป็น ซึ่งมีเป้าหมายในการรักษาเพื่อลดอาการต่างๆ จากสาเหตุหลักของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดซึ่งจะไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจทำให้เกิดหัวใจวาย การทำให้เส้นเลือดขยายมากขึ้นหรืออาจจะต้องทำ bypass และป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดหัวใจ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Lifestyle Changes
1. การควบคุมอาหารตามหลัก TLC Therapeuticlifestyle change
          • รับประทานอาหารที่ช่วยลดความดัน งดทานอาหารเค็มหรือโซเดียมสูง ลดของมันๆ
          • ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้ตํ่ากว่า 200มิลลิกรัมต่อวัน
          • ให้มีไขมันอิ่มตัวในอาหาร <7% และไขมันทั้งหมดน้อยกว่า 25-35 % ของแคลอรีทั้งหมด
          • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้มากขึ้น เช่นข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ
          • รับประทานปลาให้มากขึ้น 2-3 มื้อต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่ม omega-3
          • งดสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ความดันขึ้นและไขมันไตรกลีเซอร์ไลด์สูง

2. การควบคุมนํ้าหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมพยายามลดนํ้าหนักให้ได้ 7-10 % ในเวลาสามเดือนและเพิ่มการออกกำลังกายเป็นประจำ อาจปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถออกได้มากน้อยแค่ไหน เช่น การเดินเร็ว เต้นรำปั่นจักรยาน ทำสวน ประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

3. เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด ซึ่งมีผลต่อการเกิดภาวะหัวใจวายได้ โดยเฉพาะเวลาโกรธหรือโมโหซึ่งทางหนึ่งที่ช่วยให้คลายเครียดได้คือ การออกกำลังกาย นั่งสมาธิความจริงแล้วโรคหลอดเลือดหัวใจหากคุณใส่ใจและหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าโรคร้ายที่น่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คนคงอาจเป็นเพียงแค่โรคภัยเล็กๆ ที่ไม่สามารถทำร้ายร่างกายคุณได้

          ความจริงแล้วโรคหลอดเลือดหัวใจหากคุณใส่ใจและหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าโรคร้ายที่น่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คนคงอาจเป็นเพียงแค่โรคภัยเล็กๆ ที่ไม่สามารถทำร้ายร่างกายคุณได้

Remark
- LDL cholesterol คือ ไขมันชนิดไม่ดี ที่เกาะติดเส้นเลือด
- HDL cholesterol คือ ไขมันชนิดดี ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือด พบได้ในอาหารที่มี โอเมก้า 3 เช่น ปลา ถั่วบางชนิดและ flax seed เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม
- โรคหลอดเลือดหัวใจ ตอนที่ 1 กลไกลการเกิด อาการ และความเสี่ยง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตอนที่ 2 การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่าง ๆ
- โรคหลอดเลือดหัวใจ ตอนที่ 3 การรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น