วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

Acupuncture for Aches & Pains

โรคปวดกล้ามเนื้อกับการฝังเข็ม

โรคปวดกล้ามเนื้อเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก ซึ่งนิยามของโรคนี้ คือ กลุ่มอาการปวดจากปมกล้ามเนื้อหดตัวซึ่งเป็นบริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและแสดงอาการปวดออกมาเฉพาะแบบตามแต่กล้ามเนื้อนั้นๆ และทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชา รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว ตาแดง นํ้าตาไหล
โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2.4 ต่อ 1 เท่า อายุที่พบบ่อยคือ ช่วงวัยทำงานเฉลี่ย 31-50 ปี และพบตามแกนกลางกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ เช่น คอ หลัง สะบัก อย่าคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังและเกิดภาวะซึมเศร้าตามมา ทำให้การรักษายากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เจ็บกล้ามเนื้อ
  • การบาดเจ็บรุนแรงเฉียบพลัน (Macrotrauma)เช่น อุบัติเหตุศีรษะกระแทก ทำให้กล้ามเนื้อคอ บ่าไหล่หดเกร็ง หันคอไม่สุด รู้สึกมึน และวิงเวียนศีรษะ
  • การบาดเจ็บไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง (Microtrauma) เช่น อยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน (เกร็งยักบ่าไหล่ ห่อไหล่) ยกของผิดท่า
  • ความเครียด (Psychological stress) และความเร่งรีบในการทำงาน
  • โรคเรื้อรังต่างๆ (Chronic illness) เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท โรคกระดูกสันหลังคด
  • โรคของต่อมไร้ท่อ(Endocrine disorder) เช่น วันหมดประจำเดือน โรคไทรอยด์
  • แร่ธาตุและสารอาหารไม่เพียงพอ (Nutritional inadequate) เช่น วิตามิน กรดโฟลิก
การวินิจฉัย
กดเจ็บเฉพาะที่ (Regional pain) คลำ ได้ก้อนเป็นปมแข็ง (Taut band) และแสดงอาการปวดร้าวไปตามอาการที่ปรากฏ (Reproducible refer pain) จำกัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ก่ออาการนั้น อ่านแล้วรู้สึกคุ้นๆ กันมั้ย
วิธีการรักษา
กำจัดปมกล้ามเนื้อที่หดเกร็งที่เกิดขึ้นได้แก่
  • การยืดกล้ามเนื้อ
  • การนวด
  • การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • การใช้เข็มคลายกล้ามเนื้อ
  • การฉีดยาชาเฉพาะจุดไปที่บริเวณกล้ามเนื้อหดเกร็ง
การฝังเข็มกับโรคปวดกล้ามเนื้อ
มี 2 วิธี คือ การฝังเข็มแบบตะวันออกและแบบตะวันตก
การฝังเข็มแบบตะวันออก
เป็นการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลของร่างกายหยินและหยาง มีการใช้จุดฝังเข็มทั้งจุดใกล้และจุดไกลเพื่อปรับสมดุล และอาจใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อช่วยลดอาการปวด
ข้อดี คือ ใช้รักษาโรคได้ประมาณ 30 กว่าโรคตาม WHO รับรอง
ข้อเสีย คือใช้เข็มปริมาณมากกว่าและต้องฝังแบบต่อเนื่องเพื่อปรับสมดุล ประมาณ 10 ครั้ง
การฝังเข็มแบบตะวันตก
เป็นการฝังเข็มเฉพาะจุดที่เป็นปมกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ซึ่งเป็นบริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยง ดังที่ได้กล่าวเบื้องต้น ทำให้เกิดการคลายตัวของปมกล้ามเนื้อและมีการเรียงตัวใหม่ของใยกล้ามเนื้อ รวมทั้งทำให้เลือดกลับมาเลี้ยงบริเวณดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น ทำให้นำพาของเสียที่เกิดขึ้นออกนอกกล้ามเนื้อ และมีการหลั่งโพแทสเซียมจากกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ช่วยระงับปวดได้ดีขึ้น
ข้อดี คือ ได้ผลดีมากในกลุ่มโรคปวดกล้ามเนื้อจากกล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นปม (Myofascial pain syndrome) ใช้จำนวนเข็มน้อยกว่า ไม่ต้องใช้ไฟฟ้ากระตุ้น คลายปมกล้ามเนื้อได้ตรงจุดกว่า
ข้อเสีย คือ รักษาได้เฉพาะโรคปวดกล้ามเนื้อจากกล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นปมเท่านั้น (Myofascial pain syndrome)
ดังนั้นจึงควรเลือกรักษาให้เหมาะสมทั้งกำลังทรัพย์และกำลังกายนะครับ และควรหาสาเหตุที่คุณปวด เจ็บกล้ามเนื้อให้ทะลุ เพื่อแก้ไขและหาวิธีป้องกันการกลับเป็นซํ้า ลองพิจารณาตัวคุณเองดังนี้
  • ท่านั่งที่ทำงาน นั่งบิดๆ เบี้ยวๆ ผิดลักษณะหรือเปล่า อาจปรับโต๊ะ ปรับเก้าอี้ที่ทำงานให้ ถูกกับสรีระของคุณเองจะดีกว่า
  • คุณเครียดมากไปหรือเปล่า ฝึกหรือหาวิธีผ่อนคลาย และอย่าทำงานหักโหมจนเกินไป
  • การออกกำลังแบบแอโรบิก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นการผ่อนคลาย
  • การออกกำลังกายเฉพาะส่วน จะช่วยเสริมเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทนต่องานมากขึ้น เช่น กล้ามเนื้อบริเวณบ่าไหล่ หลังส่วนบน
  • การทำกายภาพบำบัด จะช่วยรักษาต้นเหตุของโรคบางกลุ่ม เช่น การดึงคอ ดึงหลังใน กลุ่มโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น