เดือนสิงหาคมทีไร เป็นต้องให้คิดถึงสุขภาพของคุณผู้หญิงทุกที
ผู้หญิงด้วยกันต้องเล่าเรื่องสำคัญๆ
สู่กันฟังจะได้ดูแลป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บนะคะ
ถ้าเป็นเรื่องผู้หญิงแล้วล่ะก็ มีหลายเรื่องที่ต้องเล่าสู่กันฟัง
วันนี้เราเอาเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงค่ะ นั่นคือเรื่อง
มะเร็งปากมดลูกค่ะ
ท่านผู้อ่านที่รักทราบไหมคะว่าจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของมะเร็งในสตรีไทยรองจาก
มะเร็งเต้านมเลยล่ะค่ะ โดยมีอัตราอุบัติการณ์ปรับมาตรฐานตามอายุ
(age-standardized incidence rate : ASR)ประมาณ 18.6 รายต่อประชากรสตรี
100,000 คนต่อปี นับว่าไม่น้อยทีเดียว
อาจารย์ยุทธศิลป์ เลื่อมประภัศร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาล สมิติเวช ศรีราชา ฝาก
เตือนท่านผู้อ่านไอเกิลที่รักทุกท่านว่า
อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกจะลดลงได้ถ้ามีการดำเนินการตรวจคัดกรองอย่างมี
ระบบ โดยใช้วิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิผล
ซึ่งจะทำให้คุณผู้หญิงทุกคนมีโอกาสได้ตรวจและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก
อาจารย์ยุทธศิลป์ เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับอาการเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูกว่า“เนื่องจากการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีการดำเนินโรคก่อนการเป็นมะเร็งค่อนข้างนาน ทำ
ให้คนไข้ที่มีความผิดปกติที่ปากมดลูกมีโอกาสได้รับการรักษาก่อนเป็นมะเร็ง
ปากมดลูก ดังนั้นอาการเริ่มต้นจึงไม่มี
แต่เมื่อไรก็ตามที่คนไข้ท่านนั้นมีอาการผิดปกติแล้ว
นั่นหมายความว่าอาจเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วก็ได้”
อาการของมะเร็งปากมดลูก
1. ตกขาว มีกลิ่นเหม็น
2.เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน
3.อาการปวดหลัง ปวดกระดูกในอุ้งเชิงกราน
4. ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด
อาจารย์ยุทธศิลป์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “อาการในข้อ 3 และ 4
จะพบในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อปล่อยให้มีอาการแล้ว
ระยะของโรคอาจจะมากกว่าระยะที่ 1 หรือ 2” อาจารย์จึงอยากให้คุณ
ผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ตามคำแนะนำจากสูตินรีแพทย์สัมพันธ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งนับว่าเป็นการตรวจแบบมาตรฐานเลยทีเดียว
1. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ควรเริ่มเมื่ออายุ 25 ปี
ในผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และ 30 ปี
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
เนื่องจากในประเทศไทยมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 25 ปี
พบได้น้อยมาก(น้อยกว่า ร้อยละ 0.5)
2. ผู้ที่มีอายุ 25-65 ปี ควรตรวจคัดกรองทุก 2 ปี ส่วนการตรวจภายในเพื่อตรวจหาโรคอื่นๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์ ควรทำเป็นประจำทุกปี
3. ผู้ที่มีอายุ มากกว่า 30 ปี ที่เคยตรวจคัดกรองไม่พบเซลล์ผิดปกติ
ติดต่อกัน 3 ครั้งและไม่เคยมีประวัติได้รับการรักษารอยโรคก่อนมะเร็ง
หรือมะเร็งปากมดลูก และไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ทำการตรวจซํ้าได้ทุก
3-5 ปี
4. ถ้าตรวจคัดกรองด้วยเซลวิทยาร่วมกับ HPV DNA test
ควรทำในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีโดยถ้าผลตรวจไม่พบเชื้อ HPV
และเซลล์มะเร็งทั้ง 2 วิธี ควรตรวจซํ้าทุก 3 ปี
5. ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV vaccine ควรได้รับการตรวจคัดกรองเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป
6. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรตรวจคัดกรองทุก 6
เดือนในปีแรกหลังวินิจฉัยโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หลังจากนั้นจึงตรวจปีละ
1 ครั้งตลอดไป
7. ผู้ที่เคยได้รับการรักษารอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง
หรือเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกยังคงมีความเสี่ยงต่อการคงอยู่หรือกลับเป็นซํ้า
ของโรค จึงควรได้รับการตรวจติดตามด้วยความถี่ตามคำแนะนำ
อาจารย์ยุทธศิลป์ ให้กำลังใจผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรค
มะเร็งปากมดลูกว่า ในกรณีที่ผลการตรวจพบเซลล์ผิดปกติ
ควรสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิดและปฎิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ตรวจติดตามอีก 3 ถึง 6 เดือน เนื่องจากภาวะเซลล์ผิดปกตินั้น
ถ้าไม่รุนแรง หรือพบเซลล์มะเร็งนั้น ร่างกายสามารถกำจัดเซลล์ผิดปกตินั้นได้
2. ตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง colposcope และตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูก เพื่อทำการวินิจฉัยว่าเป็นอะไร
3. ตรวจหาไวรัส HPV ในกรณีที่ยังไม่ตรวจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
โอย….ฟังเพลินๆ อยู่ดีๆ ต้องมีการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อด้วย
แล้วจะเจ็บมั้ยนี่ อาจารย์ยุทธศิลป์ ยืนยันว่าเหมือนโดนหยิกเดียวเท่านั้น
แต่การตรวจด้วย คอลโปสโคป (colposcope)
จะให้ประโยชน์มากใน
การตรวจหารอยโรคหรือความผิดปกติที่ปากมดลูก
“กล้อง colposcope นี้จะมีกำลังขยาย 6 ถึง 40
เท่าเพื่อดูการติดสีที่ผิดปกติขอบและความคมชัดของรอยโรค
เส้นเลือดที่ผิดปกติ
ซึ่งจะช่วยกำหนดตำแหน่งที่แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อทำการตรวจหาภาวะความผิด
ปกติของปากมดลูก ซึ่งเมื่อได้ตัดชิ้นเนื้อตรวจและได้ผลชิ้นเนื้อแล้วจึงจะสามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ” สำหรับการรักษาภาวะผิดปกติก่อนการเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1. การตรวจติดตาม ในกรณี รอยโรคเป็นไม่มาก และไม่รุนแรง
2. การจี้ความเย็น
3. การตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกด้วยลวดไฟฟ้า
4. การตัดมดลูกในกรณี สตรีมีบุตรเพียงพอแล้ว หรืออยู่ในช่วงใกล้หมดประจำเดือน
อาจารย์ยุทธศิลป์ฝากทิ้งท้ายเป็นกำลังใจให้ทุกท่านว่า “ส่วนใหญ่
ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภาวะผิดปกติก่อนการเป็นมะเร็งของปากมดลูกนั้น
จะหายจากภาวะผิดปกติ และไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก
แต่ต้องมีการตรวจติดตามอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับ
มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่ต้องใส่ใจตนเอง
พาตัวมาตรวจภายในและเช็คมะเร็งปากมดลูก ซึ่งความเชื่อเก่าๆ หรือความกลัว
เช่นกลัวว่าตรวจแล้วจะเจอ คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ให้เป็นแบบนี้ คือ
เจอก่อนหายก่อนสบายก่อน และหมดกังวลก่อน”
ใครบ้านอยู่แถวศรีราชาสงสัยอะไรเรื่องมะเร็งปากมดลูก แวะไปขอคำปรึกษากับอาจารย์ได้นะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น