วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

ต่อมทอนซิลอักเสบ

 ต่อมทอนซิลคือเนื้อเยื่อในลำคอ 2 ข้างบริเวณโคนลิ้น ทำหน้าที่ดักจับและกรองเชื้อโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปร่างกายมากขึ้น นอกจากต่อมทอนซิลแล้ว ผนังลำคอด้านหลัง เนื้อเยื่อใต้โคนลิ้น และต่อมอดีนอยด์ (Adenoid) ซึ่งอยู่บริเวณโพรงหลังจมูก  ก็เป็นตัวช่วยกรองเชื้อโรคเช่นกัน

 สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบ
              ในภาวะที่ร่างกายอ่อนแอ หรือติดเชื้อจากผู้อื่นที่เจ็บป่วย เชื้อโรคในช่องปากจะมีปริมาณมากชึ้น ต่อมทอนซิลจะทำงานมากขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ ทำให้ทอนซิลมีอาการแดง บวม และโตขึ้น ซึ่งเรียกว่า ต่อมทอนซิลอักเสบ

รู้ได้อย่างไรว่าเกิดภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ
              อาการต่อมทอนซิลอักเสบ จะมีลักษณะคล้ายโรคลำคออักเสบทั่วไป คือมีอาการเจ็บคอ ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่นไข้ ไอ เสมหะ หรือมีน้ำมูก โดยอาการเจ็บคอจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง  เมื่ออ้าปากจะพบว่า ทอนซิลมีลักษณะบวมแดงและโตกว่าปกติ ในกรณีที่เป็นเชื้อรุนแรง อาจมีจุดหนองที่ทอนซิล และต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตด้วย


 การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
                ถ้าอาการอักเสบไม่มาก เจ็บคอเล็กน้อย  ไม่มีไข้ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยให้พักผ่อนมากขึ้น ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้เพียงพอ ถ้าร่างกายสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ภายใน2-3 วัน อาการจะดีขึ้น แต่ถ้ามีอาการมาก ควรมาพบแพทย์ หากตรวจพบอาการอักเสบค่อนข้างรุนแรง มักจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่นๆ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นในช่วง 3-7 วัน

อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ
                เชื้อที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบบางชนิดเป็นเชื้อที่รุนแรง อาจทำให้เกิดหนองรอบๆทอนซิล ถ้าโรคลุกลาม อาจเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจได้  บางชนิดการอักเสบจะมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต และทำให้ไต หรือหัวใจผิดปกติได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิด สเตรปโตคอคคัส
(Streptococcal Tonsillitis )
               ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบบ่อยๆขนาดของทอนซิลจะโต ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ สังเกตได้จากขณะนอนหลับ ผู้ป่วยมักจะกรนดัง หรือสะดุ้งตื่นบ่อยๆ โดยเฉพาะในเด็ก

 วิธีป้องกันไม่ให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ
                  เช่นเดียวกับหลัการดูแลสุขภาพทั่วๆไป และป้องกันการเกิดหวัด โดยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

 จำเป็นต้องตัดทอนซิลออกหรือไม่
                  ต่อมทอนซิลมีหน้าที่กรองเชื้อโรคไม่ให้ลุกลามเข้าไปในร่างกายดังที่กล่าวแล้ว โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ตัดทิ้ง แต่หาก ในกรณีทีมีการอักเสบรุนแรง หรืออันตรายจากทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยควรได้รับการตัดต่อมทอนซิลออก ได้แก่

  1. ทอนซิลที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน
  2. เคยมีภาวะหนองที่ข้างทอนซิล (Peritonsillar  abscess) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  3. สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง

                 นอกจากนี้ในบางภาวะที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำให้ตัดทอนซิลทิ้ง เช่น มีอาการอักเสบบ่อยมากกว่า 6-7 ครั้งใน 1 ปี, มีกลิ่นปากจากทอนซิลอักเสบเรื้อรัง, ทอนซิลอักเสบชนิดสเตรปโตคอคคัส และทอนซิลที่โตข้างเดียวที่อาจเป็นมะเร็งได้

อายุเท่าไรที่สามารถตัดต่อมทอนซิลได้
                   โดยทั่วไปไม่จำกัดอายุในการผ่าตัดรวมถึงเด็กเล็ก ถ้ามีข้อบ่งชี้ชัดเจน และไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น มีปัญหาเลือดหยุดยาก โลหิตจาง ไม่สามารถใช้ยาสลบได้ หรือมีโรคประจำตัวที่รุนแรง

การผ่าตัดทอนซิลมีวิธีการอย่างไร
                    การผ่าตัดทอนซิลต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโสต คอ นาสิก โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ตัดทอนซิลออกทางปาก ไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นด้านนอก และมักผ่าตัดโดยการดมยาสลบ
                    การผ่าตัดจะใช้กรรไกร มีด และเครื่องจี้ให้เลือดหยุดไหล ในปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ๆที่อาจลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดลงได้กว่าวิธีการเดิม เช่นใช้คลื่นวิทยุ หรือเลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด

อันตรายจากการผ่าตัดทอนซิล
                 การผ่าตัดทอนซิลเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเลือดออกหลังการผ่าตัด ปวดบริเวณแผลทำให้กลืนลำบาก หรืออาจเกิดอาการข้างเคียงจากการดมยาสลบ ดังนั้นจึงต้องสังเกตอาการผู้ป่วยในโรงพยาบาล 1 วันหลังจากการผ่าตัด จนแน่ใจว่าปลอดภัย แพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านได้
                    ผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไข้ ภาวะขาดน้ำ น้ำหนักลด เสียงเปลี่ยน ส่วนอันตรายถึงแก่ชีวิต จากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆมีโอกาสเกิดน้อยมาก

หลังผ่าตัดทอนซิลออก ทำให้เกิดคออักเสบบ่อยขึ้นหรือไม่
                  ถึงแม้ทอนซิลจะถูกตัดออก และตัวกรองเชื้อโรคลดลง แต่เนื้อเยื่อหลังโคนลิ้นและผนังลำคอยังสามารถกรองเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้เพียงพอ ดังนั้นหลังการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยดูแลสุขภาพได้ดี ความถี่ของคออักเสบจะเกิดไม่บ่อยขึ้น และมีแนวโน้มที่จะน้อยลง

การดูแลหลังการผ่าตัดทอนซิล
                   ในวันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนและเย็น เช่น น้ำหวาน ไอสครีม โยเกิร์ต เยลลี่ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลบวมและมีเลือดออก ในวันถัดไป จะปรับอาหารให้นุ่ม แข็งขึ้น อุ่นขึ้น ประมาณ 2-5 วัน ขึ้นอยู่กับอาการปวดของผู้ป่วย การรับประทานอาหารปกติและร้อนควรแน่ใจว่าแผลไม่มีปัญหาแล้ว จึงจะเริ่มรับประทานได้ ซึ่งมักใช้เวลา 5-7 วัน
                   หลังออกจากโรงพยาบาล 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าแผลหายดีและไม่มีเลือดออกอีก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น