วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

อาการท้องผูกในเด็ก

             หมายถึง การถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะแข็ง แห้งหรือเหนียว และมีการถ่ายลำบากร่วมอยู่ด้วย จำนวนครั้งที่ถ่ายมีความสำคัญน้อยกว่าลักษณะอุจจาระ บางคนถ่าย 2 – 3 วันต่อครั้ง ถ้าอุจจาระนิ่ม ถ่ายไม่ลำบากก็ถือว่าเป็นการถ่ายที่ปกติ ถ้าอาการท้องผูกเป็นเรื้อรังอยู่นาน จะทำให้ลำไส้ใหญ่ยืดตัวออก ขยายใหญ่มากขึ้น การบีบตัวของลำไส้จะน้อยลง  พร้อมกับความรู้สึกอยากถ่ายจะน้อยลง  อุจจาระจะแข็งขึ้น เพราะน้ำในอุจจาระถูกดูดซึมกลับไปหมด ทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก ขณะถ่ายความแข็งของอุจจาระจะบาดเยื่อรูทวารหนัก ทำให้เป็นแผล เด็กจะรู้สึกเจ็บ และพยายามกลั้นอุจจาระ ทำให้อาการท้องผูกมีมากขึ้น อุจจาระอาจมีเลือดปนได้ เนื่องจากมีบาดแผลที่ทวารหนัก บางครั้งอุจจาระที่ยังค้างอยู่ถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อยสลายเป็นของเหลวทำให้ถ่ายออกมาทีละน้อยกะปริบกะปรอยโดยไม่รู้ตัว


กลไกการขับถ่าย
             เมื่ออุจจาระลงมายังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จะมีการกระตุ้นระบบประสาท ทำให้มีความรู้สึกอยากจะถ่ายอุจจาระ แต่ถ้าอยู่ในที่ที่ไม่สะดวก หูรูดทวารหนักจะเกร็งตัวปิดกั้นไว้ ความรู้สึกอยากจะถ่ายอุจจาระก็จะหายไป  เมื่อสภาพพร้อมที่จะถ่ายอุจจาระ หูรูดทวารหนักจะคลายตัวลง ลำไส้ใหญ่บีบรัดตัวขับอุจจาระออก พร้อมกันนี้กล้ามเนื้อหน้าท้องหดเกร็งช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ



สาเหตุของอาการท้องผูก
  • ความผิดปกติทางกายภาพ  โดยแบ่งเป็น 
             -  ความผิดปกติบริเวณทวารหนัก เช่น รูทวารหนักตีบ แผลที่ปากทวารหนัก
             -  ความผิดปกติของประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ เช่น การที่มีประสาทไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่ส่วนปลายน้อยลง หรือไม่มี
             -  ความผิดปกติของประสาทไขสันหลังส่วนปลาย ซึ่งควบคุมการถ่ายอุจจาระ หรือความผิดปกติของประสาท หรือกล้ามเนื้อของลำไส้ ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้น้อยลง มีอาการคล้ายลำไส้อุดตัน
  • ได้รับยาบางชนิด  ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้  ยาระงับประสาท และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
  • โรคทางเมตาบอลิค  เช่น โรคต่อมไธรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ  หรือโรคที่ทำให้มีระดับแคลเซี่ยมสูงในเลือด เป็นต้น
  • ท้องผูกโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ  มักจะมีประวัติท้องผูกในครอบครัวร่วมด้วย นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ไม่มีกากและเส้นใย หรือได้รับน้ำน้อยและได้อาหารโปรตีนและแคลเซี่ยมมากไป การขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือกลั้นอุจจาระบ่อยๆ อุจจาระจะค้างในลำไส้นานทำให้แข็ง ถ่ายลำบาก มีอาการท้องผูกและทำให้เป็นแผลบริเวณก้น
  • ความผิดปกติทางจิตใจ  การฝึกขับถ่ายแก่เด็กไม่ถูกต้อง เช่น ฝึกให้เด็กนั่งกระโถนเร็วเกินไป โดยเด็กยังไม่พร้อม เด็กอาจกลัวการนั่งกระโถน และพยายามกลั้นอุจจาระ การเปลี่ยนแปลงในครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมก็อาจมีผลต่อการขับถ่ายได้ เช่น การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว หรือการเริ่มไปโรงเรียน เป็นต้น 
             เมื่อมีท้องผูกอยู่นาน อุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้จะไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีการถ่ายรดกางเกง
มีกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจของผู้ใกล้ชิดและเพื่อนนักเรียน ทำให้เพิ่มปัญหาทางจิตใจแก่เด็กได้
การรักษา 
             -  ในวัยทารก เด็กที่ดื่มนมมารดาส่วนใหญ่ไม่มีอาการท้องผูก นอกจากมารดารับประทานนมวัว หรือรับประทานอาหารโปรตีนมากไป 
             -  ในเด็กที่ดื่มนมผสมให้นมที่มีส่วนผสมใกล้เคียงกับนมมารดา และดื่มน้ำให้มากขึ้น แนะนำให้น้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำส้ม เพิ่มอาหารที่มีกากและเส้นใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
             -  การช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง เช่น การนวดท้อง และยกขาเด็กขึ้นลงจะทำให้การขับถ่ายดีขึ้น
             -  ในเด็กวัยโตนอกจากแนะนำอาหารที่มีกากและเส้นใย  ฝึกนิสัยในการขับถ่ายแล้ว ยังอาจใช้ยาระบายได้เป็นครั้งคราว เพื่อขับอุจจาระที่คั่งค้างออกมา
             -  ในกรณีที่มีอาการท้องผูกเรื้องรัง และมีลำไส้ขยายโตขึ้น หรือมีการถ่ายอุจจาระรดกางเกง หรือถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่  ต้องให้การดูแลรักษาเป็นขั้นตอน และรักษาติดต่อเป็นระยะนานโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น