วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

เลือด: สายธารแห่งชีวิต





















เลือดเป็นส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต ในร่างกายมนุษย์จะมีเลือดไหลเวียนอยู่ราว 7-10 % ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 4-6 ลิตรในผู้ใหญ่ ในจำนวนนี้ 40% เป็นส่วนของเม็ดเลือด และอีก 60% เป็นส่วนของของเหลวที่เรียกว่า พลาสมา ในพลาสมาจะประกอบด้วยน้ำ 90% ส่วนอีก 10% คือส่วนของโปรตีน และสารอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น ฮอร์โมน, สารอาหาร



ร่างกายสร้างเลือดได้อย่างไร?
ไขกระดูกซึ่งมีลักษณะคล้ายฟองน้ำภายในกระดูกเป็นแหล่งผลิต เม็ดเลือดแก่ร่างกาย โดยอาศัยการทำงานร่วมกับอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลือง

เม็ดเลือดแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ดังแสดงในภาพ

















เลือดมีความสำคัญอย่างไร?

            -   พลาสมาช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต, ช่วยขนส่งสารอาหาร, โปรตีน, และ เอนไซม์ต่างๆซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย

            -   หน้าที่ของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ มีดังนี้

            1. เม็ดเลือดแดง: มีปริมาตรราว40% ของเลือดทั้งหมด มีอายุเฉลี่ย 120 วัน, ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปสู่เซลล์, กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และของเสียออกจากเซลล์

            2. เม็ดเลือดขาว: ช่วยต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย, ไวรัส, เชื้อราและปรสิต

            3. เกล็ดเลือด: ช่วยให้เลือดหยุดไหลเวลาที่มีบาดแผลหรือเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือด
 

การตรวจเลือดบอกอะไรได้บ้าง?
ในเลือดประกอบไปด้วยเม็ดเลือด และสารเคมีหลายชนิดซึ่งมีบทบาทต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ การตรวจเลือดสามารถใช้ในการคัดกรอง, การวินิจฉัยโรค รวมถึงการติดตามการรักษาในหลายภาวะได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา” ดัง นั้นการตรวจเลือดพื้นฐานในขณะที่ไม่มีอาการผิดปกติจึงมีความสำคัญมากเพราะ ช่วยให้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานในแต่ละบุคคล และยังสามารถใช้อ้างอิงกับผลการตรวจในอนาคตได้ ยิ่งเราตรวจพบความผิดปกติได้เร็วเพียงใด ย่อมมีโอกาสในการรักษาหรือควบคุมได้มากขึ้นเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ในผู้ชาย การตรวจวัดระดับ PSA ในเลือดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงมะเร็งต่อมลูกหมากจะทำให้สามารถพบมะเร็งต่อมลูกหมากได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ซึ่งส่งผลต่อการรักษาที่ดีขึ้น
 

ทำไมจึงต้องตรวจเลือดก่อนแต่งงาน? 
จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ไม่หยุดยั้ง ทำให้แพทย์ทราบถึงโรคต่างๆซึ่งสามารถถ่ายทอดไปสู่บุตรได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือโรคติดเชื้อบางชนิด คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ต้องการได้บุตรที่แข็งแรง สมบูรณ์ในอนาคต ดังนั้นการตรวจเลือดก่อนแต่งงานจะสามารถคัดกรองโรคทางพันธุกรรมบางชนิด รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวได้

โดยทั่วไป การตรวจเลือดก่อนแต่งงานจะประกอบด้วย การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, กรุ๊ปเลือด, ภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบ และหัดเยอรมัน รวมถึงการตรวจหาเชื้อซิฟิลิส และไวรัสเอชไอวี (เอดส์)

            -   โปรแกรมการตรวจเลือดก่อนแต่งงาน  “Marry me program


บทความโดย:

พ.ญ. ปวีณา อุดมวิบูลย์ชัย (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม โรคเลือด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น