วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Hip Hip Hooray – สะโพกร่าเริง

เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วมีข่าวฮือสะท้านวงการฮอลลิวู้ดว่า เจ โล หรือ Jennifer Lopez นักแสดงและนักร้องสาวมากความสามารถได้ทำประกัน “บั้นท้าย” ของเธอด้วยวงเงินสูงถึง 27 ล้านเหรียญ หรือ กว่า 80 ล้านบาทเลยทีเดียว
ไม่ต้องแปลกใจครับ ที่อเมริกานี่นอกจากประกันชีวิตแบบที่เรามีแล้ว เขายังมีการประกันอวัยวะต่างๆ ที่ช่วยให้เขาหาเลี้ยงชีพได้ด้วย อย่าง เดวิด เบ็คแฮม ยังประกันการเจ็บป่วยที่จะทำให้เขาต้องเลิกเล่นฟุตบอล (career-threatening injuries) ด้วยวงเงิน 151 ล้านเหรียญ หรือ กว่า 450 ล้านบาทเรียกว่าจัดเต็มเลยล่ะครับ เชื่อได้ว่าหนึ่งในการเจ็บป่วยของเขาต้องรวม เรื่องกระดูกสะโพกเข้าไว้ด้วยแน่นอน
แต่ที่เมืองไทยของเรานี่ อัตราของผู้ป่วยโรคข้อกระดูกสะโพกเสื่อมอาจจะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับโรคข้อเสื่อมอื่นๆ คือ โรคกระดูกสันหลังและเข่าเสื่อมก็ปาไปตั้ง 90% เข้าไปแล้ว โรคข้อสะโพกเสื่อมนี่เพิ่งจะ 0.8% ของโรคข้อเสื่อมทั้งหมด แต่ที่ไม่อยากบอกให้กลัวกันเลยก็คือ ข้อสะโพกเสื่อมนี่น่ะเจ็บปวดแสนสาหัสที่สุดเลยในจำนวนเสื่อมๆ ทั้งหมดนี้ล่ะครับ

โรคนี้ถ้าเป็นแล้วหมดสง่า เพราะจะทำให้ขาที่อยู่ด้านที่ข้อสะโพกมีปัญหานั้นสั้นลงหรือเหยียดงอไม่ได้ตามปกติ คือจะเดินเหินอะไรก็ไม่ปกติ ขาดความมั่นใจในชีวิต มีผลต่อจิตใจสูง ไม่ต้องคิดอะไรมากเลยกางเกงขาสั้นโชว์ขาสวยนี่ไม่ต้องพูดกันเลย
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ ท่านเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลัง และข้อที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โอย…ท่านให้ความรู้ผมมากมายเลยทีเดียว เรื่องข้อสะโพกนี่ เรียกว่าไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ต้องตกอกตกใจมากเกินไปการแก้ไขไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
ที่มาของโรคข้อสะโพกเสื่อม
• ความเสื่อมที่มากับอายุ จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ คือ ค่อยๆ สึก และเสื่อมไปเอง ไม่มีใครไปทำอะไร ซึ่งมักพบกับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป คนไทยโชคดีกว่าฝรั่งเยอะในเรื่องนี้ เพราะการที่เราถูกอุ้มเข้าสะเอวตั้งแต่เด็กนี่ ใครจะไปเชื่อว่าเป็นการพัฒนาความสมดุลของเบ้าและข้อสะโพกให้ฟิตกันได้อย่างดี
• ความเสื่อมที่ติดตัวมาแต่เกิด อันนี้ก็เป็นโชคร้ายหน่อยครับ คือ เป็นการที่กระดูกไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลย เช่น คุณแม่ไม่ได้ทานอาหารดีๆ ชอบสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ตลอดจนทานยาแก้ปวดเหล่านี้จะไปเบียดเบียนพัฒนาการของลูกทำให้เกิด hip dysplasia หรือ เบ้ากระดูกตื้นหรือ คอกระดูกข้อสะโพกตั้งขึ้นมากเกินไปจากปกติซึ่งจะประมาณ 45 องศา ทำให้พอโตขึ้นก็เสื่อมเร็ว ไม่เสื่อมไงไหว ก็มันขบกันจนเกินไป คิดง่ายๆ ฟันเราสบกันไม่ดีก็เคี้ยวอาหารไม่สะดวก ต้องแก้ไขใช่ไหมครับ แต่นี่เราแทบไม่รู้จนกระทั่งออกอาการล่ะครับ
• ความเสื่อมที่มีโรคหรือมีตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหา พวกนี้จะเกิดขึ้นเร็วไม่เกี่ยวกับอายุ เช่น โรคข้อติดเชื้อ (septic hip) ทำให้มีหนองในข้อสะโพก เกาท์ (gout) และไขข้ออักเสบ (rheumatism) เป็นต้น มะเร็งและเนื้องอกก็เป็นตัวกระตุ้นแรงอีกตัว ที่ทำให้ข้อสะโพกเสื่อมเร็ว เพราะอาหารของผิวกระดูกอ่อนที่อยู่ตามข้อเรานี้คือ นํ้าในข้อของเรานี่ล่ะ ถ้านํ้านี่กลายเป็นกรดเพราะป่วยไป กระดูกอ่อนดูดซึม osmosis เข้าไปปุ๊บก็จะป่วยตามไปด้วย คิดง่ายๆ แบบนี้ล่ะครับ บางทีตัวเร่งคือพวกยา steroid ต่างๆ ที่เรารับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ยาลูกกลอน และยาแก้ปวด ที่หมอไม่ได้สั่งให้ทานพวกนี้จะทำให้เส้นเลือดอุดตันและข้อสะโพกก็จะเริ่มตาย กระดูกก็จะยุ่ยๆ และทรุดตัวลงไปในที่สุด ฟังๆ ดูก็สยองเหมือนกันนะครับ ผมว่าจะทานยาอะไรที่แรงๆ หรือแปลกๆ ก็ลองปรึกษาหมอก่อนดีมั้ย อย่าสุ่มสี่สุ่มห้าเลย
• ความเสื่อมที่มากับอุบัติเหตุ คือ หักหรือหลุด พวกนี้ก็ทำให้เลือดมาเลี้ยงกระดูกอ่อนได้ไม่เต็มที่ ทำให้ผิวกระดูกบางลง ก็เหมือนเด็กที่ทานไม่อิ่มนั่นละครับ จะโตดีแข็งแรงได้ยากกว่าเด็กที่ทานอาหารดีๆ เต็มจาน
รักษาได้ ไม่น่ากลัวอีกต่อไป
เมื่อก่อนนี้การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมนี้ค่อนข้างน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัด ที่เป็นการผ่าตัดใหญ่ สมัยก่อนนี้ผ่าทีมีแผลยาว 10-15 เซ็นติเมตรเลยทีเดียว ก็ครึ่งไม้บรรทัดละครับ พักฟื้นก็นานเอาการอยู่ แต่วันนี้ความน่ากลัวเหล่านั้น ถูกเปลี่ยนให้มาเป็นความสุข ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึก as good as new การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกในปัจจุบัน ไม่ขึ้นอยู่กับอายุอีกต่อไปแล้วนะครับ แต่จะขึ้นอยู่กับการมีโรคประจำตัวบางชนิด และความสามารถของร่างกายที่จะทนต่อการผ่าตัดได้ แล้วแผลที่ผ่าตัดนี่ก็แค่ 4.5-5.5 เซ็นติเมตร เท่านั้นเอง
เล็กลงกว่าเดิม 3 เท่า ก็เป็นการผ่าตัดแบบ minimally invasive ล่ะครับ คือ แผลเล็ก เส้นเลือดและเนื้อเยื่อไม่ถูกทำลายมาก ก็ไม่ต้องเจ็บปวดอะไรมากมาย และเสียเลือดไปจริงๆ ก็ไม่เกิน 50 ซีซี แล้วก็ไม่ต้องไปถึงเมืองนอกเมืองนาหรอกครับ รศ.นพ.ประกิตนี่ละครับ ท่านสุดยอดแล้ว ท่านเป็นผู้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกที่ได้แผลเล็กที่สุดในโลก ท่านเคยผ่าตัดข้อสะโพกเทียมที่ใส่ cement ยึดทั้งบนและล่าง โดยใช้เวลาเพียง 22 นาที มาแล้ว การผ่าตัดแผลเล็กของท่านน่ะมัน beyond minimally invasive ไปแล้วล่ะครับ
พวกข้อกระดูกเทียมที่นำมาใส่ให้ใหม่ก็มีหลายแบบ ตั้งแต่ พลาสติกแข็ง เซรามิก ไปจนถึงโลหะ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็น Titanium และ Cobalt-chromium alloy แล้ว ซึ่งจะเคลือบด้วย hydroxyapatite ที่จะช่วยให้กระดูกยึดติดเองได้ดี จริงๆ แล้วมีโลหะตัวใหม่ด้วยคือ Tantalum ซึ่งจะถักทอให้เหมือนกระดูก และกรอปรับแต่งให้รูปร่างให้เหมือนกระดูกเราได้เป๊ะเลย เพื่อที่กระดูกจะยึดได้เหมือนเนื้อเดียวกันไปเลย แต่ขณะนี้ยังต้องพัฒนาต่อไปอีกสักหน่อย
เวลาผ่าตัดเปลี่ยนข้อพวกนี้ต้องอาศัยความแม่นยำแบบ NANOS Technic (Natural Anatomy Navigate Orthopedic Surgery) คือ เอาจุดต่างๆ ของร่างกายมาเป็นตัวชี้นำก็ human precision ล่ะครับอันนี้ พูดง่ายๆ เครื่องมือก็ช่วยได้ระดับหนึ่งแต่คุณหมอต้องแม่น เพราะจะใส่ข้อใหม่ทั้งที ใส่ลึกไป ตื้นไป องศาไม่พอดี ก็มีปัญหาอีก
หลังผ่าตัดอย่าเพิ่งเริงร่า
ถึงแม้ว่าการผ่าตัดจะไม่น่ากลัวแล้ว และคนไข้ก็สามารถเดินปร๋อได้ใน 1-3 วันหลังผ่าตัด แต่ยังไงก็ต้องระวังตัวในช่วง 3 เดือนแรกก่อนนะครับ ก็อย่างว่าล่ะ ใส่ของใหม่เข้าไปก็ต้องมีการปรับตัวกันนิดนึง ไม่มีอะไรมาก แต่ควรระวังดังนี้ครับ
• อย่าเผลอหมุนขาเข้าใน หรือ งอเยอะๆ เพราะอาจทำให้ข้อที่ใส่ใหม่นี้หลุดได้
• เวลานอนก็บิดปลายเท้าออกนะครับ
• เวลานอนตะแคงก็เอาหมอนหนาๆ 2-3 ใบมาแทรกเป็นหมอนข้างไปก่อนนะครับ
• เดินนั่งก็ทำได้ปกติ เวลาเดินก็เดินตามปกติ ไม่มีอะไรน่ากลัว
• 2 อาทิตย์แรกก็อย่าหักโหม อยู่ติดบ้านหน่อยก็จะดี หลังจากนั้นก็เริ่มทานข้าวนอกบ้านได้ ผ่านไป 1 เดือน ก็เริ่ม shopping ได

ยังไงหลังผ่าตัดแล้วก็ต้องมาเช็คกันดูอีกสักนิดว่า เดินดีหรือยัง ต้องฝึกกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่เพราะบางคนกว่าจะมาผ่าตัด กล้ามเนื้อก็ลีบเหี่ยวไปเยอะแล้ว ต้องมาฝึกกล้ามเนื้อกันใหม่ จะได้ทดสอบว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงไหม จะได้เดินสวยๆ X-ray ซักนิด ตอนพบแพทย์หลัง 1 เดือน จะได้รู้ว่ากระดูกกับข้อต่อสะโพกติดกันดีหรือยัง ถ้าติดดีแล้วหมอคงให้เดินฉลุยได้เลย พอครบ 3 เดือนแล้ว ที่เคยต้องเดินแปลกๆ หนุนหมอนข้างเวลานอนก็เลิกไปได้เลย เพราะการผ่าตัดจะเป็นการผ่าจากด้านหลัง ดังนั้นพอแผลที่เนื้อหายสนิทก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
แค่นี้สะโพกที่มีปัญหาก็ร่าเริงได้ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการบริหารให้สะโพกสบึมกันแล้วล่ะครับ ผมก็ต้องขอขอบคุณรศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ อีกครั้งล่ะครับสำหรับข้อมูลดีๆ สำหรับผู้อ่านไอเกิลครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น