วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เก่งและ…ดี


“Happy Birthday to you…” เสียงเพลงอวยพรวันเกิดเซ็งแซ่ ด้วยเสียงของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยงปีนี้ น้องปลา อายุ 5 ขวบแล้ว รู้เรื่องสารพัด คุณครูประจำชั้นบอกว่า น้องปลามีแววเป็นผู้นำในอนาคต นักบริหารจัดการที่ดี แต่ต้องฝึกกติกา มารยาทอีกนิดหน่อย
การเลี้ยงลูกนับเป็น “อาชีพ” หลักของคุณพ่อคุณแม่ ไม่แพ้อาชีพที่ทำงานเลยทีเดียว ไอเกิล ฉบับนี้โชคดีมากค่ะที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ แพทย์หญิงเบญจมาศ พิศาลสารกิจ กุมารแพทย์ ของโรงพยาบาลสมิติเวช เรื่องเคล็ด (ไม่) ลับในการเลี้ยงลูก ซึ่งควรจะเป็นอาชีพหลักของพ่อแม่โดยตรงและมีขั้นตอนที่ต้องอาศัยความอดทนและเสียสละอย่างสูง
ความพร้อมของพ่อแม่
พ่อแม่ คือ ผู้ปกครองของลูก ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ดูแลคุ้มครองปกป้องให้พ้นภัย ทุกคนที่แต่งงานแล้วอยากจะมีลูก ควรดูพฤติกรรมของตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือยัง “ก่อนจะมีลูกต้องมั่นใจว่า สามารถรักลูกได้เต็มร้อย โดยไม่หวังผลตอบแทน และขณะนี้ตนเองพร้อมที่จะสละความเคยชินเดิมๆ หรือไม่ ถ้ายังชอบเที่ยวกันทั้งคู่ ก็อย่าเพิ่งมี เพราะการมีลูกไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทั้งพ่อและแม่ต้องช่วยกันดูแล ตั้งแต่ตั้งท้องจนคลอดและจนลูกโต 5-6 ขวบนั่นแหละที่พ่อแม่จะเริ่มเที่ยวได้อีก คุณพ่อเองก็ต้องเข้าใจว่าตอนช่วงลูกยังเล็กอยู่ ทำไมคุณแม่ถึงไปเที่ยวด้วยไม่ได้ และตัวเองก็ควรเที่ยวให้น้อยลง”
ช่วงตั้งท้อง
หูของเด็กจะพัฒนาเร็วที่สุด ในขณะที่ลูกตาจะพัฒนาช้ากว่า “ในช่วงหลัง 8 อาทิตย์ ของการตั้งครรภ์ ควรเริ่มเปิดเพลงให้ลูกฟัง โดยเฉพาะเพลง classic ทั้งไทยและเทศ ที่มีจังหวะไม่กระทุ้งมาก จะช่วยให้เด็กพัฒนาได้เร็ว คือช่วยกระตุ้นสมองให้รับรู้ได้เร็วขึ้น แต่เสียงที่ดีที่สุดและถูกที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยก็คือ เสียงของพ่อแม่นั่นเอง ซึ่งจะช่วยสื่อสารกับลูกได้ โดยเฉพาะเสียงของแม่ เป็นเสียงที่ลูกจะ happy ที่สุด ที่จะได้ยิน คุณแม่ควรพูดกับลูกในครรภ์ด้วยเสียงเบาๆ ทุ้มๆ เนิบๆ เพราะจะทำให้ลูกสงบ”
ช่วงคลอดลูก
การสัมผัสลูกในช่วงนี้ เช่น การให้นมลูกและการอุ้มลูก จะเป็นภูมิคุ้มกันและสร้างสายสัมพันธ์กับลูกไปตลอดชีวิต “ที่สมิติเวช พอคลอดลูกออกมาปั๊บ เราให้ลูกดูดนมแม่ทันที ถ้าต้องผ่าออก เราก็จะให้กอดลูกและให้ดูดนมสักนิดหนึ่งก่อน และขอให้พ่ออยู่ด้วย เราเน้นเรื่องการให้นมแม่มากๆ เพราะการให้นมแม่นอกจากจะมีประโยชน์แล้ว แม่ยังได้ใกล้ชิดกับลูก การให้นมลูกในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง แม่-ลูก ซึ่งจะเป็น natural bonding ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันความประพฤติของลูกในอนาคต เวลาลูกทำผิดลูกจะนึกได้เองว่า เอ๊ะ แม่จะเป็นทุกข์แค่ไหน และ natural bonding นี่เองที่จะทำให้แม่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าลูกจะออกนอกลู่นอกทาง” การเลี้ยงลูกต้องมีพื้นที่เหมาะสมและปลอดภัย คือมี safety ต่างๆ เช่น ปลั๊กไฟมีฝาปิด มุมโต๊ะหุ้มไม่ให้แหลม ห้องเด็กเป็นสัดเป็นส่วน มีอากาศระบายอย่างดี มีที่ให้เด็กวิ่งเล่น ฯลฯ
ช่วงหล่อหลอมพฤติกรรม
นิสัยของลูกนั้น 50% มีพื้นฐานอารมณ์ตั้งแต่เกิด เรียกได้ว่าเป็นกรรมหรือสัญชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด อีก 50% สามารถสร้างได้โดยพ่อแม่และสิ่งแวดล้อม ช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบคือช่วงที่ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ 3 ขวบแรก คือ ช่วงที่สำคัญที่จะสร้างเด็กให้เป็นคนเต็มคน มีความดี ความเก่ง “ช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกเลียนแบบจากสิ่งแวดล้อม และสามารถมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางเพศได้ โดยเฉพาะลูกชายที่ให้อยู่กับพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้หญิงมากเกินไป ลูกชายต้องการ father figure เพราะฉะนั้น คุณพ่อควรดูแลลูกชายอย่างใกล้ชิด เป็นตัวอย่างให้ลูก สอนให้ลูกเห็น ผู้ชายต้องเดินอย่างนี้ กิริยาท่าทาง การแต่งกายอย่างนี้ สำหรับลูกสาว ต้องให้ดูแม่เป็นต้นแบบ ”
การเลี้ยงลูกในช่วงนี้ต้องไม่ใช้อารมณ์พ่อแม่ต้องสงบใจ “ต้องอดทนที่จะดูแลลูก และให้การยอมรับ ไม่ว่าลูกเราจะอ้วนเตี้ยดำขาว เลี้ยงง่ายหรือเลี้ยงยาก ยังไงเขาก็เป็นลูกเรา ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก ลูกกินข้าวแป๊บๆ แล้วอิ่ม ก็ต้องเก็บโต๊ะ และรอจนถึงมื้อหน้า เพื่อฝึกหัดนิสัยการกินให้ถูกต้อง ถ้าลูกทำอะไรที่ไม่ดี อย่าตีลูก ให้อธิบายลูกว่าทำไมไม่ดีและอย่าทำอีก”
นอกจากนี้พ่อแม่ควรยอมรับในขีดความสามารถของลูก อย่าคิดว่าลูกคนอื่นทำได้แล้วลูกฉันต้องทำได้ด้วย อาจารย์ยังให้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “การอ่านนิทานสอนใจ อย่างนิทานอีสป (Aesop’s Fables) และการร้องเพลงกล่อมลูกให้นอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกสงบและหลับสบาย”
“นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นต้นแบบในการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ มีศีิลธรรม อยู่ในคำสั่งสอนของศาสนา ตลอดจนสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ไม่ว่าจะคืบ คลาน ตั้งไข่ ต่างๆ พ่อแม่ช่วย support แต่ต้องให้ลูกคิดเอง ทำเอง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกวัยไหนควรทำอะไรได้บ้าง ในสมุด vaccine ประจำตัวที่เด็กต้องฉีดเป็นช่วงๆ จะมีบอกไว้เพื่อให้พ่อแม่ได้สังเกตการพัฒนาของลูก”
ลูกควรมีกิจกรรมที่เหมาะสมกับอายุด้วย “การที่ลูกมีกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้ลูกพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ดี เช่น การเล่นตั้งเตจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ เพราะมีการ synchronize balance ของตัวเอง สนับสนุนการทำกิจกรรมกับครอบครัว กับเพื่อน กับชุมชน คือให้เกิดการร่วมมือ ให้เรียนรู้การทำงานเป็นหมู่ ทำให้ลูกอยู่ร่วมกันในสังคมได้ การสอนให้ลูกมีอารมณ์ขันจะช่วยให้ลูกเข้ากับคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น ควรพาลูกไปทัศนาจรปีละครั้ง ยิ่งไปต่างจังหวัดยิ่งดี ทำให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น พ่อแม่ไม่ควรบ้าซื้อของเล่นให้ลูก ควรให้ลูกหัดทำเอง”
เรื่องสุขภาพของลูกก็เป็นเรื่องใหญ่ ถึงแม้ส่วนมากร่างกายจะแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ถ้าจะมีก็จะเป็นเรื่องไข้หวัดธรรมดา ท้องเสีย ฯลฯ ดังนั้น ต้องดูแลสุขอนามัยของลูกให้ดีด้วย “นอกจากวัคซีนต่างๆ ที่ลูกควรได้รับตามวัยแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งด้วย”
การศึกษา
เลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับลูก ควรหัดให้ลูกมีระเบียบ ถึงเวลาไหนต้องทำอะไร ถ้าลูกยังไม่มีการ training ควรเลือกโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย จะได้มีคนดูแล “อย่ายัดเยียดการเรียนพิเศษให้ลูก เสริมวิชาที่เขาชอบ วิชาไหนอ่อนให้พอผ่านได้ก็พอ ไม่ต้องดีเลิศ ฝึกให้ลูกมีการผ่อนคลายด้วยการเรียนศิลปะ หรือ ดนตรี ควรพูดคุยและรับฟังลูก อย่าคิดว่าลูกเถียง แต่ต้องสอนลูกให้รับคำติชมได้ ไม่พูดสอดกลางคัน ต้องรู้จักการ ‘รอ’ รอเข้าคิว รอฟังคำอธิบายได้ ที่สำคัญที่สุดต้องสอนให้ลูกมี ‘หิริ โอตัปปะ’ คือ ละอายต่อบาปที่ทำทั้งในที่ลับและที่แจ้ง พ่อแม่ควรรับประทานอาหารพร้อมลูก โดยเฉพาะมื้อเย็น พูดคุยกันบ้างแล้วค่อยกลับไปทำงานต่อ จะช่วยให้มีสัมพันธภาพที่ดี”
เรื่องการเลี้ยงลูกให้เก่งให้ดีนี่คงต้องพูดกันเป็นปีๆ เลยกว่าคุณพ่อคุณแม่จะหายห่วง แต่ถ้าพ่อแม่เตรียมพร้อมเหนื่อยตอนแรกเริ่มที่พ่อแม่ยังมีกำลัง ดีกว่าเหนื่อยและกลุ้มใจตอนลูกโตจริงไหมคะ
แพทย์หญิงเบญจมาศ พิศาลสารกิจ กุมารแพทย์ ของโรงพยาบาลสมิติเวช
คุณหมอคนเก่งของไอเกิลฉบับนี้คือคุณหมอเบญจมาศค่ะ อาจารย์ดูแลรักษาเด็กๆ มาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นแทบจะนับไม่ถ้วนแล้วค่ะ เพราะหลังจากอาจารย์ได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว อาจารย์ได้รับ Diplomate American Board of Pediatrics, Fellowship in Neonatology อีกด้วยค่ะ ข้อคิดที่อาจารย์มอบให้เป็นของขวัญ ‘วันแม่’สำหรับคุณแม่มือใหม่ในฉบับนี้มีค่ามากเลยนะคะ เพราะเป็นรายละเอียดเคล็ดลับปลีกย่อยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไปศึกษาเอาเอง แต่อาจารย์ให้ความสำคัญในเรื่องการอบรมลูกควบคู่กับการให้ลูกดื่มนมแม่มากๆ เลยค่ะ ความที่รักเด็กและความหวังที่จะให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีทั้งสุขอนามัยและพฤติกรรมที่ดี ในยามว่างเราจะเห็นอาจารย์เข้าร่วมกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) ตรวจสุขภาพในวันเด็กที่สมิติเวช สุขุมวิท จัดอย่างต่อเนื่องกว่า 11 ปี ให้กับเด็กๆ ในชุมชนใกล้เคียง
อาจารย์ฝากทิ้งท้ายให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่า ‘ถึงเวลาที่ลูกจะเลือกอาชีพการงาน ต้องให้เขาเลือกเอง ควรแนะนำให้ expose กับอาชีพต่างๆ จะได้เลือกได้เหมาะสม’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น