“อยู่ดีๆ ทำไมมีเลือดไหลออกมา” ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์คงทำให้เสียขวัญกำลังใจกันน่าดู
เพราะกลัวว่าตัวเองจะแท้ง แล้วลูกจะยังอยู่กับเราหรือไม่ อาการเลือดออกตอนตั้งครรภ์จึงเป็นภาวะที่คุณแม่เป็นกังวลมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
และถือเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์ทันที
ภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์
คือภาวะหรืออาการต่างๆ
ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และไม่สามารถป้องกันได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มที่มีเลือดออก และกลุ่มที่มีอาการปวดท้อง
กลุ่มที่มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์
โดยอาจมีอาการปวดหน่วงๆ
บริเวณท้องน้อยร่วมด้วย อันเนื่องมาจากภาวะ
- แท้งคุกคาม คือการตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย และอาการจะมากขึ้นจนกระทั่งตกเลือดมากได้ หากคุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูทารกในครรภ์ทันที
- ท้องลม คือการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก หรือเรียกว่าภาวะไข่ฝ่อ ทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด สุดท้ายก็จะมีการแท้งเองตามธรรมชาติโดยแพทย์จะสามารถตรวจได้ว่าเป็นท้องลมหรือไม่ ด้วยการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์
- ท้องนอกมดลูก มีอาการปวดท้องน้อยมาก อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงไหล่และหลัง เพราะเลือดที่ออกมาไปกดใต้กระบังลม นอกจากนี้อาจมีความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว จนถึงขั้นช็อกได้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
กลุ่มที่มีเลือดออกก่อนคลอด
ในช่วงนี้เรียกว่าการตกเลือดก่อนคลอด
อาการทั่วไปจะปวดท้องเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด
อาจมีสาเหตุมาจากภาวะ “รกเกาะต่ำ” โดยปกติรกจะเกาะอยู่ที่ส่วนบนของมดลูก แต่รกเกาะต่ำ
คือ มาเกาะใกล้ๆ ปากมดลูก หรือปิดบริเวณปากมดลูก เวลามดลูกขยายตัวจึงมีเลือดออกมา
หรือภาวะ ”รกลอกตัวก่อนกำหนด” คือภาวะที่รกซึ่งเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของโพรงมดลูกในตำแหน่งปกติ
แต่เกิดมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ได้รับการกระทบกระเทือน
จนเกิดการลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนถึงกำหนดคลอด ทำให้มีเลือดออกระหว่างผนังมดลูกกับตัวรก
เมื่อมีเลือดออกมากก็จะทำให้รกลอกตัวจากผนังมดลูกมากขึ้น ซึ่งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์อาจเป็นอันตรายได้แพทย์จะต้องคอยตรวจเช็คลักษณะของเลือดที่ออก
ดูอาการการปวดท้อง หรือการหดรัดตัวของมดลูก พร้อมกับดูควบคู่ไปกับประวัติของคุณแม่
เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาอย่างทันท่วงที
กลุ่มที่มีอาการปวดท้อง
สำหรับกลุ่มที่มีอาการปวดท้องนั้นการวินิจฉัยค่อนข้างลำบาก
ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดที่มาจากการตั้งครรภ์
ถ้าเกิดในช่วงไตรมาสแรกก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นการท้องนอกมดลูก หรือภาวะแท้งคุกคาม
ถ้ามาปวดในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นไปได้ว่าเป็นการปวดท้องเพราะจะคลอด
หรือปวดท้องเพราะเกิดจากโรคของตัวคุณแม่เอง เช่น เป็นถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์หรือเนื้องอก
เป็นต้น ซึ่งคุณหมอจะต้องแยกว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ มีลักษณะอาการปวดแบบไหน
เพื่อจะสามารถวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง
การดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน
ภาวะฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้
ทั้งตัวคนไข้เองต้องไม่นิ่งนอนใจ หากมีเลือดออกหรืออาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที
หรือโทรมาสอบถามที่เคาเตอร์พยาบาลก่อน เพื่อการเตรียมตัวในเบื้องต้น ทางโรงพยาบาลเองก็ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนไข้
สร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารให้ชัดเจนสามารถตอบคำถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น หากคนไข้โทรมาสอบถามแล้วสงสัยว่าเข้าข่ายภาวะรกเกาะต่ำ
อาจต้องมีการผ่าตัดฉุกเฉิน พยาบาลควรแนะนำให้คนไข้งดน้ำงดอาหารมาเลย เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะได้สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที
เพราะหากไม่ได้งดน้ำงดอาหารมา อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบได้ แต่ถ้ามาตรวจแล้วไม่ต้องผ่าตัดก็สามารถกลับบ้านได้โดยไม่มีอันตรายอะไร
อาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีสาเหตุซ่อนอยู่มากมายหลายอย่าง
การดูแลรักษาแต่ละอย่างก็แตกต่างกันออกไป หากคุณแม่มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ว่าช่วงไหน
ขอให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
เพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และคุณลูก
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2534
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น