วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน



นอกเหนือจากการวางแผนแต่งงานในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะจัดหาสถานที่ พิมพ์การ์ดแต่งงาน ตระเวนเชิญแขก ตามหาชุดแต่งงานที่ชอบ ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เลย นั่นก็คือ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจคิดว่าไม่มีความจำเป็น แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และอย่าคิดว่าเป็นเรื่องไม่ไว้ใจกันและกัน เพราะเชื้อโรคหรือพาหะต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในร่างกายนั้นมีมากมาย แม้คุณและคู่จะไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงก็ตาม และการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้นเป็นการเช็คสภาพความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย เพื่อป้องกันการติดโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากคู่สมรสและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูกน้อยที่จะถือกำเนิดขึ้นมาในอนาคต ซึ่งมีพ่อแม่บางคนอาจจะเป็นพาหะนำโรคโดยที่ไม่รู้ตัว โดยทั่ว ๆ ไป รายการตรวจมักจะประกอบด้วย

  1.การตรวจเลือด
  • ตรวจกรุ๊ปเลือด ให้ทราบว่าแต่ละคนมีเลือดกรุ๊ปใด เพื่อสะดวกในกรณีที่ต้องการเลือดฉุกเฉิน
  • ตรวจชนิดของเลือด (Rh Factor) คนไทยโดยทั่วไปจะมีค่า Rh+ แต่บางคนก็อาจพบได้ว่ามีชนิด Rh- ถ้าฝ่ายว่า ที่คุณแม่มีเลือด Rh- เมื่อตั้งครรภ์จะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกหรือมีปัญหาต่อลูกในครรภ์ได้
  • เป็นการตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงว่ามีความผิดปกติของ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หรือไม่ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการสืบทอดทางพันธุกรรม ซึ่งหากทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะของโรคนี้ก็จะส่งผลกระทบเรื่องสุขภาพถึงลูกได้
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • การตรวจหาภูมิคุ้มกันและเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หากพบว่ามีเชื้อแสดงว่าคุณเป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์และสายเลือด ถ้าหากไม่มีการป้องกันให้ดีอาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อ
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน หากไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดไว้อย่างน้อยสามเดือน เพราะหากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการหรือแท้งได้
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์ หากพบเชื้อจะได้ป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัย และคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการติดต่อไปสู่ลูก
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส หากมีการติดเชื้อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถ้ามีการรักษาก่อนแต่งงานแล้วก็สามารถหายขาดได้และไม่มีการติดต่อไปยังอีก ฝ่ายได้ ส่วนมากวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือดมากกว่าอาการที่ปรากฏ
  • ตรวจเลือดหาเชื้ออื่นตามความเสี่ยง เช่น เชื้อเริม ตรวจหาพยาธิแมว เป็นต้น
   2. การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์
   3. ในฝ่ายหญิงอาจต้องตรวจภายใน มะเร็งปากมดลูก อัลตรา        ซาวด์ช่องท้องส่วนล่างเพื่อประเมินมดลูกและปีกมดลูก            ตาม      แต่แพทย์จะเห็นสมควร

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ดีอย่างไร
  • เพื่อสกัดกั้นการส่งผ่านโรคสู่คนที่เรารัก เพราะโอกาสในการส่งผ่านโรคสู่กันและกันนั้นมีมาก ถ้าพบว่าใครสักคนเป็นโรคที่จะสามารถติดเชื้อจากการมีสัมพันธ์ทางเพศ ก็ควรรักษาให้หายก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคเล็กน้อยหรือร้ายแรงเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะบางโรค ซึ่งถ้าไม่ตรวจเลือดก็จะไม่รู้ เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี และเอดส์ การตรวจก่อนแต่งจึงเท่ากับช่วยลดความเสี่ยงและลดอัตราแทรกซ้อนความเจ็บไข้ได้ป่วยของคู่ชีวิตเรานั่นเอง
  • เพื่อตรวจความพร้อมของคุณแม่มือใหม่ ตรวจสภาพความพร้อมของร่างกายว่าอำนวยต่อการมีลูกแค่ไหน ในกรณีที่ยังไม่พร้อม ควรศึกษาเรื่องการคุมกาเนิดให้ดี เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมว่าผลข้างเคียงเป็นอย่างไร และข้อห้ามทางสุขภาพของแต่ละคนด้วยว่าสามารถเลือกใช้วิธีนั้นๆได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกน้อย ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีสภาวะเหมาะสมพอที่จะตั้งครรภ์ได้หรือไม่
  • เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย โรคบางโรคสามารถส่งต่อ ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปถึงลูกหลานได้ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคเลือดออกไม่หยุด เป็นต้น บางครอบครัวมีการส่งผ่านโรคมาหลายรุ่นแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนการมีบุตรจะได้ทราบว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดที่ลูกจะเป็นโรคเหล่านั้น และสามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2534
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ภาวะครรภ์เสี่ยง

เสี่ยง…เป็นเสี่ยงกัน (ภาวะครรภ์เสี่ยง)



ความสุขของคนที่กำลังจะเป็นแม่ คือช่วงเวลาที่ได้ฟูมฟักและดูแลเจ้าตัวน้อยในครรภ์ให้เติบโตไปทีละขั้น แต่ในขณะเดียวกันที่การตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดขึ้นโดยคุณแม่ที่ยังมีความพร้อมไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุของ “ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง”ตามมา เมื่อคุณแม่มือใหม่หลายๆ คน ได้ยินคำนี้อาจทำให้ตกใจ เกิดความกังวล กลัวว่าตนเองจะอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ เราลองมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันดีกว่า โดย ”นายแพทย์สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy) อัลตราซาวนด์และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์” ได้สละเวลามาให้ความรู้กับเรา


ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือ High Risk Pregnancy
คือ ภาวะความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ที่คาดว่าอาจมีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกในท้องได้ ความจริงแล้ว การตั้งครรภ์ทุกครั้งถือได้ว่ามีความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป ท้องแรกอาจจะเสี่ยงเพราะความไม่รู้ ไม่มีประสบการณ์ แต่ท้องถัดๆ ไปก็อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องของอายุคุณแม่ที่มากขึ้น มีโรคประจำตัวมากขึ้น การจะทราบว่ามีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์


คุณแม่แบบไหนมีปัจจัยเสี่ยงสูง
อายุ ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอายุมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป หากตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยจะเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด และอาจมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ก็ต้องระวังเรื่องของโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น รวมไปถึงต้องดูประวัติคนในครอบครัวร่วมด้วย เช่น หากพบว่าคุณแม่ของหญิงที่ตั้งครรภ์เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด โอกาสที่หญิงตั้งครรภ์คนนั้นจะคลอดก่อนกำหนดก็จะสูงกว่าคนอื่น หรือหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้


คุณแม่ที่มีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ มีประวัติเคยแท้งลูก โดยเฉพาะการแท้ง 3 ครั้งติดต่อกัน มีประวัติคลอดก่อนกำหนด


รูปแบบการใช้ชีวิตของคุณแม่ ก็มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของทารกในครรภ์เช่นกัน สำหรับผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ควรงดตั้งแต่วางแผนจะมีลูก เพราะแอลกอฮอล์จะผ่านไปยังลูกทางสายสะดือ และทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด การสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการ หรือเด็กจะเสียชีวิต ที่สำคัญคุณพ่อบ้านก็ไม่ควรจะสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ระหว่างตั้งครรภ์


ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เนื่องจากฮอร์โมนมีฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ


ภาวะแท้งคุกคาม
คือ การตั้งครรภ์มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด โดยจะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกกะปริบกะปรอย อาการจะมากขึ้นเป็นลำดับกระทั่งตกเลือดมากได้ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น ทารกพิการแต่กำเนิด มีความผิดปกติของโครโมโซม ความผิดปกติของฮอร์โมน


ภาวะรกเกาะต่ำ
เป็นภาวะที่รกเกาะอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ โดยปกติรกจะเกาะอยู่ที่ส่วนบนของมดลูก แต่อาจมีบางส่วนของรกมาปิดบริเวณปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด


ครรภ์เป็นพิษ
เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความดันโลหิตสูง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ทำให้มีอาการบวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจชัก เส้นเลือดในสมองแตก และอาจทำให้เสียชีวิต เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย


ฟังดูเหมือนว่าความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นั้นมีไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยง จะต้องมีปัญหาสุขภาพเสมอไปแต่เป็นการคาดว่าอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางป้องกันเป็นเหมือนการดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพมากกว่า ในกรณีที่พบความผิดปกติ การทราบล่วงหน้าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น


อายุของคุณแม่อาจจะเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ แต่การตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ จะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อค้นหาและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อทารกในครรภ์ได้


โดยปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์ที่จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติได้แม่นยำและชัดเจน เช่นการทำอัลตราซาวนด์แบบละเอียดช่วยให้เห็นความสมบูรณ์ของอวัยวะเด็กในครรภ์ การเจาะเลือดตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
คุณหมอขอฝากข้อคิดไปยังคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ด้วยว่า “อย่าไปวิตกกังวลหรือกลัวกับภาวะครรภ์เสี่ยง ถามว่าถ้าคุณไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ไปโดดบันจี้จั๊มมันมีความเสี่ยงไหม ก็เสี่ยงเหมือนกันแต่เสี่ยงกันไปคนละอย่าง สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปัจจุบันมีกระบวนการตรวจประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงที่มีมาตรฐาน โดยทีมแพทย์ พยาบาล และทีมงานที่มีคุณภาพ เมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ให้รีบมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ การได้รับคำแนะนำในเรื่องของการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์ พร้อมกับการได้รับการประเมินภาวะเสี่ยงของการตั้งครรภ์ จะเป็นการวางแผนการรักษาดูแลได้อย่างดี เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับคุณแม่และลูกน้อยได้
เห็นไหมคะว่าภาวะครรภ์เสี่ยงสูงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นสัญญาณเตือนให้ว่าที่คุณแม่ได้มีการดูแลสุขภาพตัวเองและลูกในท้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพ การมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กำเนิดลูกน้อยได้อย่างแข็งแรงและปลอดภัย ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่มือใหม่ทุกคนนะคะ

นพ. สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2534
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222



วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เลือดออก ปวดท้อง อย่ามองข้าม






 “อยู่ดีๆ ทำไมมีเลือดไหลออกมา” ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์คงทำให้เสียขวัญกำลังใจกันน่าดู เพราะกลัวว่าตัวเองจะแท้ง แล้วลูกจะยังอยู่กับเราหรือไม่ อาการเลือดออกตอนตั้งครรภ์จึงเป็นภาวะที่คุณแม่เป็นกังวลมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และถือเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์ทันที

ภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์
คือภาวะหรืออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และไม่สามารถป้องกันได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่มีเลือดออก และกลุ่มที่มีอาการปวดท้อง

กลุ่มที่มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์
โดยอาจมีอาการปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยร่วมด้วย อันเนื่องมาจากภาวะ
  • แท้งคุกคาม คือการตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย และอาการจะมากขึ้นจนกระทั่งตกเลือดมากได้ หากคุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูทารกในครรภ์ทันที
  • ท้องลม คือการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก หรือเรียกว่าภาวะไข่ฝ่อ ทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด สุดท้ายก็จะมีการแท้งเองตามธรรมชาติโดยแพทย์จะสามารถตรวจได้ว่าเป็นท้องลมหรือไม่ ด้วยการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์
  • ท้องนอกมดลูก มีอาการปวดท้องน้อยมาก อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงไหล่และหลัง เพราะเลือดที่ออกมาไปกดใต้กระบังลม นอกจากนี้อาจมีความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว จนถึงขั้นช็อกได้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

กลุ่มที่มีเลือดออกก่อนคลอด
ในช่วงนี้เรียกว่าการตกเลือดก่อนคลอด อาการทั่วไปจะปวดท้องเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด อาจมีสาเหตุมาจากภาวะ “รกเกาะต่ำ” โดยปกติรกจะเกาะอยู่ที่ส่วนบนของมดลูก แต่รกเกาะต่ำ คือ มาเกาะใกล้ๆ ปากมดลูก หรือปิดบริเวณปากมดลูก เวลามดลูกขยายตัวจึงมีเลือดออกมา หรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด” คือภาวะที่รกซึ่งเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของโพรงมดลูกในตำแหน่งปกติ แต่เกิดมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ได้รับการกระทบกระเทือน จนเกิดการลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนถึงกำหนดคลอด ทำให้มีเลือดออกระหว่างผนังมดลูกกับตัวรก เมื่อมีเลือดออกมากก็จะทำให้รกลอกตัวจากผนังมดลูกมากขึ้น ซึ่งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์อาจเป็นอันตรายได้แพทย์จะต้องคอยตรวจเช็คลักษณะของเลือดที่ออก ดูอาการการปวดท้อง หรือการหดรัดตัวของมดลูก พร้อมกับดูควบคู่ไปกับประวัติของคุณแม่ เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาอย่างทันท่วงที

กลุ่มที่มีอาการปวดท้อง
สำหรับกลุ่มที่มีอาการปวดท้องนั้นการวินิจฉัยค่อนข้างลำบาก ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดที่มาจากการตั้งครรภ์ ถ้าเกิดในช่วงไตรมาสแรกก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นการท้องนอกมดลูก หรือภาวะแท้งคุกคาม ถ้ามาปวดในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นไปได้ว่าเป็นการปวดท้องเพราะจะคลอด หรือปวดท้องเพราะเกิดจากโรคของตัวคุณแม่เอง เช่น เป็นถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์หรือเนื้องอก เป็นต้น ซึ่งคุณหมอจะต้องแยกว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ มีลักษณะอาการปวดแบบไหน เพื่อจะสามารถวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง

การดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน
ภาวะฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้ ทั้งตัวคนไข้เองต้องไม่นิ่งนอนใจ หากมีเลือดออกหรืออาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที หรือโทรมาสอบถามที่เคาเตอร์พยาบาลก่อน เพื่อการเตรียมตัวในเบื้องต้น ทางโรงพยาบาลเองก็ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนไข้ สร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารให้ชัดเจนสามารถตอบคำถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น หากคนไข้โทรมาสอบถามแล้วสงสัยว่าเข้าข่ายภาวะรกเกาะต่ำ อาจต้องมีการผ่าตัดฉุกเฉิน พยาบาลควรแนะนำให้คนไข้งดน้ำงดอาหารมาเลย เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะได้สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที เพราะหากไม่ได้งดน้ำงดอาหารมา อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบได้ แต่ถ้ามาตรวจแล้วไม่ต้องผ่าตัดก็สามารถกลับบ้านได้โดยไม่มีอันตรายอะไร

อาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีสาเหตุซ่อนอยู่มากมายหลายอย่าง การดูแลรักษาแต่ละอย่างก็แตกต่างกันออกไป หากคุณแม่มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ว่าช่วงไหน ขอให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และคุณลูก


ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2534
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อันตรายจากการปวดไหล่เรื้อรัง



อันตรายจากการปวดไหล่เรื้อรัง


ข้อหัวไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มาก เราจึงมักใช้หัวไหล่ในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ บ่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว จึงไม่น่าแปลกที่เราจะมีอาการปวดไหล่กันมาก แต่ถ้าอาการปวดเป็นไม่นานก็ไม่น่าห่วงสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นบ่อย ๆ หรือเป็นมานานเกิดอาการ ปวดไหล่เรื้อรัง อันนี้ไม่ดีแน่
สาเหตุของอาการปวดไหล่คือ ?
อาการปวดไหล่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากที่สุดปัญหาหนึ่งและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการบ่งชี้ก็จะมีอาการปวดบริเวณต้นแขน ปวดด้านหลังหัวไหล่ ปวดบริเวณต้นคอและสะบัก โดยสาเหตุของอาการปวดไหล่อาจเกิดจากปัญหาของโครงสร้างในข้อไหล่เอง กระดูก กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือถุงหุ้มเส้นเอ็น โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ อาชีพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยบอกว่าผู้ป่วยจะจัดอยู่ในกลุ่มสาเหตุใด ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเป็นแล้วสะสม หรือเป็นมานานแล้วไม่รักษาก็จะทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังได้ นอกจากนั้นอาการปวดไหล่ยังพบได้จากสาเหตุของความผิดปกติจากอวัยวะข้างเคียง คืออาการเจ็บป่วยต่างๆ สามารถส่งผลทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติดจนส่งผลให้ปวดไหล่ได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด วัณโรคปอด เบาหวาน ไทรอยด์ กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น
คนในช่วงวัยใดที่จะพบอาการปวดไหล่มากที่สุด
จริงๆแล้วอาการนี้พบได้ทุกวัย ถ้าเป็นคนอายุน้อยก็น่าจะมาจากการเล่นกีฬาการออกกำลังที่หักโหมจนอาจเกิดกล้ามเนื้อฉีก หรือกิจกรรมที่ทำแล้วต้องใช้หัวไหล่ซ้ำๆ หรืออุบัติเหตุ ถ้าเป็นคนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุอาจเกิดจากการสึกเสื่อมของกระดูกข้อไหล่ ภาวะหัวไหล่ติดหรือ ภาวะการอักเสบของเส้นเอ็นหัวไหล่(RotatorCuff) ในส่วนของคนวัยทำงานในตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดไหล่มากขึ้นและอาจจะทวีความรุนแรงจนถึงขั้นปวดไหล่เรื้อรังได้ เพราะด้วยลักษณะการใช้ร่างกายที่ผิด การอยู่ในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน รวมไปถึงปัจจุบันคนในช่วงวัยนี้เริ่มให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย และบางท่านอาจออกหักโหมมากเกินไปหรืออาจออกกำลังผิดท่า ไม่ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อน-หลังออกกำลังกาย จึงทำให้โอกาสที่จะบาดเจ็บที่หัวไหล่มีสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการปวดไหล่ทั้งสิ้น แต่ด้วยไม่อยากมาหาหมอบางคนจึงทนเก็บอาการไว้ แต่ยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งทำให้มีโอกาสทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังมากยิ่งขึ้น
ปวดไหล่แบบไหนถึงจะเรียกว่าปวดไหล่เรื้อรัง
โดยมากอาการปวดก็จะปวดบ่อย ๆ หรือปวดตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป ลักษณะนี้จัดว่าเป็นอาการปวดไหล่เรื้อรังได้
อาการปวดลักษณะไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์
มีอาการปวดมานานกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งอาการปวดนี้รวมไปถึงการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่ด้วย มีอาการชาของแขน มีอาการบวมของข้อไหล่หรือบริเวณหัวไหล่ มีลักษณะกล้ามเนื้อลีบ บางรายอาจมีอาการอื่น เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ถ้าปล่อยไว้นานไม่ทำการรักษาจะอันตรายแค่ไหน
หากปล่อยไว้นานจนมีอาการปวดไหล่เรื้อรังเมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ได้ลำบากมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่ลดลงจะเป็นเกือบทุกทิศทาง ยกแขนได้ไม่สุด หากเป็นกรณีที่มีการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นคือเส้นเอ็นข้อไหล่อาจจะมีการฉีกขาด ซึ่งตอนแรกอาจจะฉีกขาดเล็กน้อยแต่พอปล่อยไว้นานก็อาจจะฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นขาดทั้งเส้นเลยก็ได้ แน่นอนว่าถ้าถึงขั้นนั้นก็จะทำการรักษาได้ยากมากยิ่งขึ้น
การรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรังทำได้อย่างไรบ้าง
การรักษาอาการปวดไหล่ประกอบด้วย การรักษาอาการทั่วไป การรักษาด้วยกายภาพบำบัด และการผ่าตัด ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรักษาได้ตั้งแต่ปวดไหล่ทั่วไปจนถึงระดับปวดไหล่เรื้อรัง ซึ่งจะใช้วิธีไหนรักษาก็ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเป็นมากเป็นน้อยแค่ไหน ความหนักเบาของอาการ หากมีอาการปวดไหล่ทั่วไปหรือเป็นแบบเฉียบพลัน เบื้องต้นหมอก็จะให้งดการเคลื่อนไหวของไหล่ข้างที่มีอาการ และอาจจะให้รับประทานยาแก้ปวด ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นมาอีกหน่อยหมอก็อาจจะให้มีการทำกายภาพบำบัด เลือกใช้ความเย็นหรือความร้อนประคบร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการหนักมากรักษาด้วยกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้นอย่างน้อย 3-6 เดือน เรียกว่ามีอาการปวดไหล่เรื้อรัง แพทย์ก็จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัด
การรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรังด้วยวิธีผ่าตัด
วิธีการผ่าตัดมี 2 วิธี คือ วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง และวิธีการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งการเลือกวิธีและเทคนิคการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ชนิดของรอยโรค ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้องข้อดี คือ บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย เพราะใช้แผลผ่าตัดแบบรูเจาะและใช้เครื่องมือผ่านรูเจาะเข้าทำการผ่าตัดซ่อมสร้าง ส่งผลให้การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอื่นๆน้อย การฟื้นตัวมักจะเร็วกว่า
วิธีการดูแลตัวเองไม่ให้บาดเจ็บที่ข้อไหล่
เมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือเมื่อยล้าที่บริเวณหัวไหล่ ก็ควรพักการใช้ข้อไหล่ อาจจะใช้การนวดร่วมกับการประคบเย็นหรือประคบร้อนก็ได้ แต่ในกรณีบาดเจ็บของข้อไหล่ควรหลีกเลี่ยงการนวดและใช้การประคบเย็นเป็นหลัก แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่อย่างถูกต้องก่อนและหลังการออกกำลังกายไหล่หรือใช้งานไหล่
เราจะเห็นได้ว่าอาการปวดไหล่สามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มต้นที่การสังเกตอาการ ท่าทางของตนเองว่ามีความผิดปกติอย่างไร น่าจะมีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร และปรับเปลี่ยนท่าทางและอิริยาบถหรืองดการใช้งานบ้างก็จะช่วยได้ หากทำแบบนี้ก็ลดความเสี่ยงที่จะมีอาการปวดไหล่เรื้อรังลงได้อย่างมากทีเดียว แต่หากปฏิบัติแล้วยังมีอาการปวดไหล่อยู่ ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
หนังสืออนุมัติผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ปี พ.ศ.2547
สาขาออร์โธปิดิกส์ สาขาออร์โธปิดิกส์