วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

Expert's Talk อาการแพ้ยา...ไม่ใช่ผลข้างเคียงจากการใช้ยา



เมื่อแพทย์ถามว่า เคยแพ้ยาอะไรไหม คนไข้หลายๆ ท่านจะไม่แน่ใจกับคำตอบ เพราะบางท่านลืมว่าเคยแพ้ยาอะไร และหลายๆ ท่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแพ้ยา จริงๆแล้ว อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งเป็นอาการที่สามารถคาดเดาได้ และมีความสัมพันธ์กับปริมาณของยาที่ได้รับ เช่น ทานยาแก้ปวดแล้วมีอาการแสบท้อง  อีกประเภทที่ควรให้ความสำคัญคือ การแพ้ยา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะแพ้ยาตัวไหน โดยอาจเกิดขึ้นทันที หรือหลังจากรับยาไปแล้วหลายวัน ลักษณะอาการ เช่น มีผื่นคัน เปลือกตาบวม ริมฝีปากบวม มีแผลบริเวณเยื่ออ่อน ผิวหนังไหม้ ตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดการอักเสบของตับ เกิดภาวะเกร็ดเลือดต่ำ และโลหิตจาง เป็นต้น หากทานยาแล้วมีอาการแพ้ยา ควรหยุดยา และพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้อย่างถูกวิธี และห้ามทานยาที่แพ้ซ้ำอีก เพราะหากเกิดการแพ้ซ้ำ อาการแพ้อาจรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรจดบันทึกชื่อยาไว้ แจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งว่าท่านแพ้ยาชื่ออะไร

การวินิจฉัยการแพ้ยา สามารถทำได้หลายวิธี แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ฯเท่านั้น อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้สามารถทำการทดสอบทางผิวหนัง แบบสะกิด (skin prick test) และแบบแปะ(patch test) ด้วยตัวยาที่สงสัย  หรือการทดสอบด้วยการให้ยาที่สงสัย(drug provocation test หรือ DPT) ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด




นายแพทย์เภสัชกรสุรสฤษดิ์ ขาวละออ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันคลินิก
ศูนย์โรคภูมิแพ้
โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น