วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หมอนรองกระดูกคอเสื่อมในวัยทำงาน


หนุ่มสาววัยทำงานทั้งหลาย มีอาการเหล่านี้หรือไม่ ปวดกระดูกคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ร้าวลงไปที่แขน รวมถึงมีอาการชาและอ่อนแรง บางรายเป็นมากถึงขั้นยกแขนไม่ขึ้นเดินลำบาก พึงระวังไว้ เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังได้ครับ

                สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาวะที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือภาวะที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ในส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุก็ตรงไปตรงมา มีการบาดเจ็บและทำให้หมอนรองกระดูกบริเวณต้นคอมีการเคลื่อนหรือกดทับไม่ว่าจะเป็นไขสันหลังหรือเส้นประสาท สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยๆ คือกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องของการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น การนั่งเล่นไอแพดนานๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ กลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องปวดคอ บ่า ไหล่ และจะมีปวดแปล๊บเหมือนไฟช็อตลงไปที่แขน มีอาการชา บางรายอ่อนแรง ทำให้เสียความสามารถในการทำงาน

การรักษา ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยและช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น การรักษาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
         กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงมากนัก สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการทานยา และทำกายภาพบำบัด
         กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ทานยาแล้วไม่ดีขึ้นทำอย่างไรก็ไม่หาย กลุ่มนี้จะมีนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยในการรักษา เช่น การรักษาโดยผ่านคลื่นความร้อน หรือการฉีดยาเข้าไปเหนือเส้นประสาทที่บริเวณคอ

         กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการผ่าตัดคือ
            •  มีอาการเป็นมานานมากกว่า 6 สัปดาห์ และเป็นถี่มากขึ้น ความรุนแรงของการปวดมากขึ้น
            •  ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น หรือคนไข้ต้องทนทุกข์ทรมาน อาการปวดนั้นเรื้อรัง
            •  มีอาการอ่อนแรงของข้อต่อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่
            •  เป็นกลุ่มอาการกดทับไขสันหลังคือ คนไข้จะเสียความสามารถในการใช้มือ และเสียความสามารถในการทรงตัว
            •  ภาวะการติดเชื้อหรือเนื้องอก

ถ้าไม่อยากทนทุกข์ทรมานจากภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทหรืออาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ คอ บ่า และไหล่ ต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า นั่ง 1 ชั่วโมง แล้วลุกยืน 1 นาที ไทม์สเตรชชิ่ง (Time Stretching) ยืดและเหยียดกล้ามเนื้อ ตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้าจำเป็นต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ควรหันหน้าให้ตรงกับจอ โต๊ะทำงานจะต้องมีที่พักข้อมือ เรียกว่า แฮนด์เลส (Hand rest) และจอมอนิเตอร์จะต้องอยู่ระดับสายตา การนั่งต้องนั่งให้เต็มก้นและมีพนักพิง ถ้าทำได้แบบนี้จะสามารถทำให้ท่านห่างไกลจากภาวะปวดคอ บ่า ไหล่ Office Syndrome หรือที่รุนแรงกว่านั้นก็คือ หมอนรองกระดูกคอหรือกระดูกคอเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้ครับ


นาวาอากาศตรี นพ.ชัยพฤกษ์ ปั้นดี
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ
รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์   
โทร. 0-2378-9000






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น