วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554
มารู้จักโรคนิวโมคอคคัสกันเถอะ
โรคนิวโมคอคคัส คืออะไร
โรคนิวโมคอคคัส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Streptococcus pneumoniae เป็นเชื้อเก่าแก่ค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 สมัยก่อนทำให้เกิดโรคปวดบวมซึ่งมีอัตราตายค่อนข้างสูง ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1940 มีการค้นพบยาเพนนิซิลินซึ่งใช้รักษาโรคนิวโมคอคคัสได้ผลเป็นอย่างดีมาก แต่ในระยะหลังเชื้อนิวโมคอคคัส พัฒนาการดื้อยาเพนนิซิลินรวมทั้งยาปฏิชีวนะตัวอื่นอีกหลายตัว ทำให้มีปัญหาอย่างมากในการรักษาโรคนี้
เชื้อนิวโมคอคคัสมาจากไหน
เชื้อแบคทีเรียนี้พบได้ทุกหนทุกแห่ง และมักพบอาศัยอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคนทั่วไป โดยไม่มีอาการอะไร (เป็นพาหะ) เชื้อกระจายไปสู่บุคคลอื่นโดยการไอ จาม ทำให้มีละอองเสมหะแพร่กระจายออกไป เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเสมหะทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยพบว่ามือเราเป็นตัวกลางที่สำคัญที่นำเชื้อไป ซึ่งการแพร่กระจายนี้เช่นเดียวกับโรคหวัด และ ไข้หวัดใหญ่ การล้างมือจึงเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้
ใครบ้างที่ติดเชื้อนี้ได้ง่าย
บุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เด็กที่เลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน คนสูงอายุมากกว่า 65 ปี คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่มีโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคระบบเลือด โรคเบาหวาน และคนที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำหน้าที่บกพร่อง
เชื้อนิวโมคอคคัสทำให้เกิดโรคอะไรบ้าง
โรคที่ร้ายแรงและอันตรายมากที่สุด คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน กระวนกระวาย อาเจียน คอแข็ง ชัก หรือ หมดสติอย่างรวดเร็ว
โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเฉพาะในเด็กที่มาด้วยอาการไข้สูง ตรวจหาสาเหตุไม่พบติดเชื้อที่ใด การเพาะเชื้อในเลือดจะช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ โรคปอดบวม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอ หายใจเร็ว หอบ มักเกิดหลังการเป็นหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก ที่มีหูชั้นกลางอักเสบได้บ่อย ๆ จะมีอาการไข้สูง เจ็บหู ร้องกวน งอแง มักเกิดภายหลังการเป็นหวัด นอกจากนี้ยังพบเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในโรคไซนัสอักเสบด้วย
เราทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อนิวโมคอคคัส
คุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกน้อยของท่านจะเป็นโรคนิวโมคอคคัส ถ้าเด็กมีอาการไข้สูงและมีอาการตามที่กล่าวข้างต้นหรือยังไม่มีอาการอะไรร่วมด้วยก็ตาม ควรพาเด็กไปพบแพทย์ แพทย์มักจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด การวินิจฉัยโรคแน่นอนต้องตรวจเลือด เพาะเชื้อจากสิ่งที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น น้ำไขสันหลัง เลือด เสมหะ และน้ำในหูชั้นกลาง เป็นต้น
การรักษาโรคนิวโมคอคคัสยุ่งยากหรือไม่
การรักษาที่สำคัญ คือ การให้ยาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อนิวโมคอคคัสได้อย่างรวดเร็วดังที่กล่าวข้างต้น ในสมัยก่อนยากลุ่มเพนนิซิลินได้ผลดี ฆ่าเชื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันเชื้อดื้อยาเพนนิซิลินมากขึ้น ทำให้แพทย์ต้องใช้ยากลุ่มใหม่ ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ความยุ่งยากของการรักษาโรคนี้ยังขึ้นอยู่กับว่า ติดเชื้อบริเวณใด เช่น ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้มีการทำลายเนื้อสมองร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีความพิการเหลืออยู่ในรายที่รอดชีวิต
เราสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคนิวโมคอคคัสได้อย่างไร
การป้องกันไม่ให้สัมผัสเชื้อโรคนี้ ต้องมีสุขอนามัยที่ดี การหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในที่แออัด ไม่สัมผัสผู้ป่วยที่เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ สอนให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ปิดจมูกและปิดปากเวลาไอจาม
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ซึ่งได้ผลดีในการป้องกันโรคนิวโมคอคคัสชนิดแพร่กระจายตามกระแสเลือด วัคซีนมี 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ เริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 ประกอบด้วย 14 สายพันธุ์ ต่อมาปี ค.ศ. 1983 พัฒนาเป็น 23 สายพันธุ์ และยังใช้ในปัจจุบันนี้ วัคซีนชนิดนี้ใช้ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ชนิดที่สองเป็นชนิดคอนจูเกต ประกอบด้วยเชื้อ 7 สายพันธุ์ เริ่มใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 สามารถใช้ได้ผลดีในเด็กตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ ถึง 5 ปี ในประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้ามาเมื่อต้นปี 2006 นี้ แนะนำใช้ในเด็กอายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน เนื่องจากวัคซีนเพิ่งนำเข้าจากต่างประเทศและยังมีราคาสูง ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ตามสถานพยาบาลชั้นนำทั่วไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น