อาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว อาการปวดหลังดังกล่าวนั้นจะเกิดได้ 2 ช่วง ถ้าปวดหลังภายใน 3 เดือน ในทางสากลเรียกว่า ปวดหลังฉับพลัน แต่ถ้าปวดนานเกิน 3 เดือน เรียกว่าปวดหลังเรื้อรัง อาการปวดหลังนั้น ไม่เหมือนกันทุกคน บางครั้งเกิดทันทีทันใด บางคนเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางคนเป็นๆ หายๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการปวดหลังภายใน 3 เดือนมักหายเองได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ถ้าได้รับการพักผ่อนเพียงพอ
สาเหตุของการปวดหลัง
เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งเกิดจากการบิดหมุนตัว ก้มหลังมากไป การนั่งผิดท่า เช่น นั่งหลังโก่ง นั่งบิด แต่ถ้ามีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะปวดหลังมีได้มากจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะ จากการเสื่อมสภาพของร่างกาย การเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลังนั้นเริ่มเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่อายุ 30 ปี บางคนอาจมีอายุน้อยกว่านี้ ถ้าทำงานที่เกี่ยวกับการยกของหนัก แบกหาม ผลักดันสิ่งของอย่างต่อเนื่อง บางคนที่มีอายุมากขึ้นอาจมีอาการปวดหลังไม่มาก หรืออาจจะมีแต่ทนได้ก็ได้
ลักษณะอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังแตกต่างกัน เช่น ปวดตื้อๆ ปวดเสียดแทง ปวดตุ๊บๆ ปวดแบบหดรั้งกดรัด ปวดร้าวลงขา ปวดหรือเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวหลังได้ ก้มตัวไม่ได้เพราะเจ็บ โดยลักษณะอาการปวดนั้นมักขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค บางคนเชื่อว่าการนอน จะช่วยลดการปวดหลังได้ ไม่ว่าการปวดหลังจะมีสาเหตุจากอะไรก็ตาม เรื่องการนอนนานๆ อาจไม่ได้ช่วยให้อาการปวดหลังดีขึ้นเสมอ มิหนำซ้ำอาจทำให้หายช้าได้ด้วย
อาการปวดหลังช่วงล่างที่ต้องรีบพบแพทย์
- อาการปวดจะมากขึ้น ถ้าก้ม หรือยกของหนัก
- อาการอาจเป็นมาก ถ้านั่งนานๆ
- การยืน เดิน อาจทำให้มีอาการปวดเพิ่มขึ้น
- อาการปวดหลัง อาจเป็นๆ หายๆ บางวันหาย บางวันปวดมาก
- อาการปวดหลัง อาจเกิดร่วมกับอารมณ์ที่แปรปรวนได้
- อาการปวดหลัง อาจปวดร้าวไปที่สะโพก แก้มก้น ด้านหลังของโคนขา แต่จะไม่ร้าวลงต่ำกว่าระดับข้อเข่า
- อาการปวดหลัง อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ ปวดร้าวลงไปต่ำกว่าระดับข้อเข่าไปถึงส้นเท้าปลายเท้าได้, อาจทำให้กำลังนิ้วเท้า ข้อ เท้า อ่อนแรง และมีอาการชาๆ ปลายเท้า ภาวะเหล่านี้มักเกิดจากหมอนกระดูกสันหลังเลื่อนกดทับรากประสาทสันหลัง หรือเกิดเนื้องอกในช่องไขสันหลังได้
- อาการปวดหลังอาจมีอาการอย่างอื่นอีก เช่น มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกในเวลากลางคืน หรือมีน้ำหนักลดมากในช่วงเวลาสั้น
การรักษาอาการปวดหลัง
หลักการรักษามีอยู่ 3 วิธี ขึ้นกับการวินิจฉัยโรค และความรุนแรงของโรค คือ การรักษาทางยา การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยา (กายภาพบำบัด) และการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การรักษาทางยา
มียาหลายประเภทที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ คือ
- ยากลุ่ม Acetaminophen เช่น Paracetamol ใช้รักษาอาการปวดหลังได้ดี โดยเฉพาะกลุ่ม Nonspecific low back pain ผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้รักษา1-2 สัปดาห์ จะช่วยให้อาการปวดหายได้ แต่ถ้าใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ จะมีผลเสียต่อตับ ไต และเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูกได้
- ยากลุ่มต้านการอักเสบ (Non steroid anti inflammatory drugs – NSAIDs) จะลดการอักเสบของข้อต่อ กล้ามเนื้อหลัง เอ็นข้อต่อ ตัวอย่างยาเช่น Ibuprofen, naproxen, piroxicam และอื่นๆ
- ยากลุ่มนี้ถ้าใช้ติดต่อกันนาน จะมีผลเสียเช่นกัน เพราะจะทำลายเนื้อเยื่อตับ ไต และเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก ปกติใช้ได้ 2-3 สัปดาห์ อาการเจ็บปวดจะหายได้
- กลุ่มยาเสพติดบางอย่าง เช่น Codeine, Morphine อาจใช้ได้เป็นครั้งคราว แต่ควรให้แพทย์สั่ง เพราะอาจติดยาได้ถ้าใช้บ่อยๆ
- ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ จะลดอาการเจ็บปวดได้ดี
- กลุ่มยาประเภทสเตอรอยด์ ซึ่งอาจใช้รับประทาน หรือชนิดฉีดเข้าไขสันหลัง ปกติยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ เพราะมีผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายมาก จะต้องอยู่ในความดูและ สั่งการใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น.
คือ การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด ถ้าการรักษาทางยาอย่างเดียวยังไม่พอ การรักษาทางกายภาพบำบัด จะช่วยลดอาการปวดได้มาก บางครั้งการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดอย่างเดียวสามารถช่วยลดความเจ็บป่วยโดย ไม่ต้องใช้ยารักษา วิธีรักษาด้วยกายภาพบำบัด มีดังนี้ :-กายภาพบำบัด
- เช่น การใช้ความร้อนที่เหมาะสม ความเย็นที่เหมาะสม การนวด ใช้ Ultra sound และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากายภาพบำบัดจะรวมถึงการสอนให้ผู้ป่วยทำเองด้วย เช่น การยืดกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว, การยกน้ำหนักที่เหมาะสม, การเดินหรือวิ่งตามอัตภาพ จะช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ข้อต่อมีพลังในการเคลื่อนไหวได้คล่องตัวด้วย
- การใช้เครื่องพยุงหลัง หรือเข็มขัดรัดหลัง จะช่วยพยุงหลังลดการเจ็บปวดได้ ในกรณีที่หลังท่านไม่แข็งแรง จะช่วยให้ท่านรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย แต่การใช้เครื่องพยุงนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังลีบ ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะโอกาสที่จะบริหารกล้ามเนื้อหลังน้อย การใช้เครื่องพยุงหลัง ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สั่ง
- การนวดดัดหลัง มีวิธีต่างๆ มากมาย ซึ่งทำโดยนักกายภาพบำบัด หรือ Chiropractor ผู้ทำต้องมีความระมัดระวัง บางรายหายดี แต่บางรายปวดมากขึ้น
- การดึงหลัง จะมีประโยชน์ในผู้ที่ปวดหลัง และปวดร้าวลงขา กล้ามเนื้อหดเกร็ง หมอนกระดูกสันหลังเลื่อน บางรายได้ผลดี แต่บางรายปวดมากขึ้น
- การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น โยคะ อาจหายได้ แต่บางรายปวดมากขึ้น เพราะทำผิดท่า การฝังเข็มบางรายได้ผล แต่ได้ผลในช่วงระยะสั้น เพราะไม่ได้รักษาต้นเหตุที่แท้จริง
จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เมื่อการรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม เช่น การรักษาทางยา กายภาพบำบัด และอื่นๆ นาน 3 – 6 เดือนแล้ว ไม่หาย ในรายที่จะต้องผ่าตัดรักษา ศัลยแพทย์จะต้องอธิบายพยาธิสภาพที่เกิดกับกระดูกสันหลังให้ท่านรับทราบก่อน รวมทั้งขอดีข้อเสีย และภาวะแทรกซ้อนต่างๆด้วย มีผลตรวจด้วยภาพรังสี, CT Scan or MRI ที่ชี้ชัดว่ากระดูกสันหลังมีพยาธิสภาพ ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะต้องตรวจสุขภาพของผู้ป่วยว่าสมบูรณ์แข็งแรงพอที่จะทน การดมยาสลบผ่าตัดได้ และมีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่
ศ.เกียรติคุณ นพ. เจริญ โชติกวณิชย์
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2504
สาขาออร์โธปิดิกส์ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลสมิติเวช 02-022-2222
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น