วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไวรัสตับอักเสบบี ตัวการสำคัญการเกิดตับแข็ง มะเร็งตับ


ไวรัสตับอักเสบบี: ตัวการสำคัญการเกิดตับแข็ง มะเร็งตับ

ไวรัสตับบีจัดเป็นเชื้อไวรัสที่มีการติดเชื้อในคนมากที่สุด  ประชากรโลก 2,000 พันล้านคน เคยติดเชื้อไวรัสบีช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต  นั่นหมายถึงประชากรโลกทุก 1 คนใน 3 คน เคยติดเชื้อไวรัสบี     ที่สำคัญประชากรประมาณ 350 ถึง 400 ล้านคนติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรัง       
   
สำหรับคนไทย  ร้อยละ 6-12 ในคนอายุมากกว่า 40 ปี ติดเชื้อเรื้อรัง แต่ปัจจุบันหลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสบีให้เด็กแรกเกิดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535  ทำให้การติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรังในคนไทยเฉลี่ยลดลงเป็นประมาณร้อยละ 4-6 ซึ่งประมาณได้ว่าคนไทยเกือบ 4 ล้านคนไทยติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรัง 

เราติดเชื้อไวรัสบีได้อย่างไร

1. จากมารดาสู่ทารก  เป็นการติดเชื้อไวรัสบีที่สำคัญและบ่อยที่สุดในคนไทย ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสบีสูง จะมีโอกาสติดเชื้อจากแม่ได้สูงมากกว่าร้อยละ 90
2. จากเพศสัมพันธ์  ไวรัสบีสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้  ดังนั้นคู่สามีภรรยาที่มีคนหนึ่งเป็นไวรัสบีเรื้อรัง ควรตรวจในอีกคนหนึ่ง  ถ้ายังไม่เคยติดเชื้อไวรัสบี  ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสบีให้ครบ 3 เข็ม
3. จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น การฉีดยาเสพย์ติด, การสัก, ฝังเข็ม  รวมถึงการใช้อุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน, ใบมีดโกนหนวด เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติดเชื้อไวรัสบีได้
4. การได้รับเชื้อไวรัสบีจากเลือดหรือน้ำเหลืองผู้ป่วยผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผล หรือทางเยื่อบุตา, ปาก    

เมื่อเชื้อไวรัสบีเข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไปอยู่ในเซลล์ตับ  มีการแบ่งตัวทำให้เกิดโรคตับอักเสบฉับพลัน  ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยมีอาการไข้ต่ำๆ เพลีย เบื่ออาหารเจ็บแน่นใต้ชายโครงขวา  หลังมีอาการดังกล่าวประมาณ 5-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะสีชาเข้ม  ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน)  ในช่วงที่มีอาการดีซ่านไข้จะไม่มีแล้ว อาการดีซ่านและตับอักเสบจะดีชึ้น ภายใน 1-3 เดือน  แล้วสามารถหายจากไวรัสตับอักเสบฉับพลัน  ในกรณีที่ไวรัสบีติดเชื้อในร่างกายนานเกิน 6 เดือน จะกลายเป็นไวรัสบีเรื้อรัง  โอกาสติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรังเกิดประมาณร้อยละ 3.5 ในผู้ใหญ่ที่เป็นไวรัสบีตับอักเสบฉับพลัน  ในขณะที่มากกว่าร้อยละ 90 ของเด็กทารกจะเกิดติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรังหลังติดเชื้อ  ที่สำคัญอีกประการผู้ป่วยทารกมักไม่มีอาการตับอักเสบฉับพลันหลังติดเชื้อไวรัสบี  แต่ไม่หายจะกลายเป็นไวรัสบีเรื้อรังได้มากกว่าร้อยละ 90 

ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรังอาจเกิดตับอักเสบเรื้อรัง      มีการทำลายเซลล์ตับ  เกิดผังผืดมากขึ้น จนอาจเกิดตับแข็ง ได้ร้อยละ 20-25  ภายในเวลา 8-10 ปี  หลังจากเกิดตับแข็งจะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับวายได้ร้อยละ 3.5 ต่อปี และเกิดมะเร็งตับได้ร้อยละ 3.8 ต่อปี  ไวรัสบีเรื้อรังเป็นสาเหตุมะเร็งตับที่สำคัญที่สุดในคนไทย  ร้อยละ 70-75 ของมะเร็งตับในคนไทยเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง  ที่สำคัญตัวไวรัสบีเองสามารถก่อให้เกิดมะเร็งตับโดยไม่ต้องมีตับแข็ง  แต่โอกาสจะน้อยกว่าผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว


รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ  พิรัชวิสุทธิ์
ผู้อำนวยการอาวุโสและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคตับและระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น