วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ใส่ใจ พร้อมดูแลข้าราชการไทย

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ใส่ใจ พร้อมดูแลข้าราชการไทย


สมิติเวช ศรีนครินทร์... ใส่ใจ พร้อมดูแลข้าราชการไทย เจ็บป่วยเบิกได้ไม่ต้องรอคิวนาน ด้วยมาตรฐาน JCI ด้วยโปรแกรมการรักษาและการผ่าตัด 29 รายการ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

          ปัจจุบันข้าราชการสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยกรมบัญชีกลางจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาบางส่วนให้    ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกรมบัญชีกลางกับสถานพยาบาลเอกชน  ตามโครงการเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยในของสถานพยาบาลเอกชนด้วยระบบ DRGs

ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ
  • ผู้มีสิทธิเบิกราชการ (ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด ข้าราชการบำนาญ
  • บุคคลในครอบครัวผู้มีสิทธิ บิดา/มารดา/คู่สมรส/บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  • มีโรคที่ต้องได้รับการผ่าตัดตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด
  • โรคที่กำหนดให้เบิกได้ คือ โรคที่ต้องมีการนัดผ่าตัดล่วงหน้า (Elective Surgery)

 โรค/หัตถการให้สามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรง
          โรค / หัตถการที่จะเบิกจ่ายตรงได้ต้องเป็นโรค / หัตถการที่มีการนัดผ่าตัดล่วงหน้า (Elective Surgery) เท่านั้น กรณีที่เป็นการผ่าตัดเพื่อตรวจวินิจฉัย ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งหรือเกี่ยวข้องกับมะเร็ง ผ่าตัดเพื่อรักษากรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน การผ่าตัดที่ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้และการผ่าตัดหรือหัตถการที่อาจเข้าข่าย  4 ประการข้างต้นจะไม่สามารถเบิกจ่ายตรงได้

          สำหรับโรคหรือหัตถการที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ของโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ จะแบ่งเป็น
 -          กลุ่มศัลยกรรมทั่วไป
 -          กลุ่มออร์โธปิดิกส์ (ศัลยกรรมกระดูกและข้อ)
 -          กลุ่มกุมารศัลยกรรม
 -          กลุ่มสูติ-นรีเวชกรรม
 -          กลุ่มทางเดินปัสสาวะ
 -          กลุ่มโสต ศอ นาสิก
 -          กลุ่มจักษุ
 -          กลุ่มศัลยกรรมพลาสติก

ค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบจ่ายเอง ในการเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยใน
1. ค่าห้อง ค่าอาหาร
2. ค่าธรรมเนียมแพทย์ (Doctor Fee)
3. ค่าธรรมเนียมพิเศษ  ซึ่งทางโรงพยาบาลฯ จะแจ้งผู้ป่วยให้ทราบก่อนเข้ารับการรักษา
4. ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ส่วนเกินจากอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนดให้เบิกได้

รายการโรค / หัตถการผ่าตัด โครงการเบิกจ่ายตรงที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลาง



 

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

ปวดหลังไม่ไปหาหมอ..เพราะกลัวต้องผ่าตัด


“ปวดหลัง ไม่ไปหาหมอ เพราะกลัวต้องผ่าตัด” เป็นความรู้สึกลึก ๆ ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลงได้
ร้อยละ 80 ของคนที่ปวดหลัง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาและกายภาพบำบัด แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด คิดว่าถ้าปวดหลัง สุดท้ายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เลยไม่ยอมมาหาหมอ ปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนโรคเรื้อรัง ลุกลามแล้วค่อยมาพบแพทย์
อาการปวดหลังมีหลายสาเหตุ อยู่ที่การใช้งาน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนนั้นๆ สมัยก่อนใครปวดหลังบอกว่าเป็นอาการของคนแก่ เพราะทำงานหนัก ยกของหนัก มานาน พออายุมากขึ้นก็ปวดหลัง
แต่ปัจจุบัน คนวัยทำงาน หนุ่มๆ สาวๆ ก็ปวดหลังกันไม่น้อยเพราะการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง วันๆ นั่งจุ้มปุ๊กอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ ว่างจากคอมพิวเตอร์ก็กดโทรศัพท์ เป็นสังคมก้มหน้า ซึ่งของแถมตามมาคือ อาการปวดคอร่วมด้วย

ปวดหลังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย

ในชีวิตคนเราเชื่อว่าทุกคนน่าจะต้องเคยปวดหลัง ซึ่งการรักษาอาการปวดหลัง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกรายเสมอไป แล้วแต่โรคที่เป็นและอาการว่ามากแค่ไหนถ้าเป็นอาการปวดหลัง ที่ไม่มีตัวโรคชัดเจน เช่น ปวดกล้ามเนื้อเฉียบพลัน หรือ ปวดหลังจากการทำงาน สามารถรักษาได้ด้วยการทานยา และกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่สามารถหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
แต่หลังจากนั้นก็อยู่ที่การดูแลตัวเองกันแล้ว ว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงานกันได้แค่ไหน ถ้ายังใช้กันแบบเดิม อาการปวดหลังก็กลับมาอีกได้ เพราะอาการปวดหลังในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการใช้งานที่ผิดที่ผิดทางแล้วก็ทำซ้ำๆ เดิมๆ เวลาคนไข้มาหาคุณหมอ คุณหมอจะต้องดูก่อนเลยว่า
  •  ทำงานอะไร
  •  ใช้คอมพิวเตอร์วันละกี่ชั่วโมง
  •  นอนดูทีวีหรือไม่
  •  สูบบุหรี่หรือไม่
  •  อ้วนเกินไปหรือเปล่า
ใครทำงานหนักก็ต้องหยุดพักบ้าง ใครนั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ก็ลุกขึ้นมาขยับแข้งขยับขากันบ้าง ใครที่ชอบนอนตะแคงดูทีวี ก็ขอให้นั่งดูให้ถูกวิธี ใครที่สูบบุหรี่ก็ควรงด ใครอ้วนก็ต้องลดน้ำหนัก การรักษาต้องทำควบคู่กันไปหลายอย่างถึงจะได้ผลดี
สำหรับคนที่ปวดหลังชนิดที่มีภาวะของโรคในกระดูกสันหลังชัดเจน เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือ กระดูกเคลื่อน หากเป็นไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเช่นกัน สามารถใช้การรักษาทางยาและกายภาพบำบัดได้ ในกรณีที่เป็นโรคดังกล่าวถ้าไม่หายด้วยยาและกายภาพบำบัด ร้อยละ 20 อาจต้องผ่าตัดรักษา
การทานยาช่วยบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ช่วยให้ร่างกายสามารถปรับตัวอยู่กับกระดูกที่เสื่อมหรือเคลื่อนไปในตำแหน่งใหม่ได้โดยไม่ปวด

กรณีที่ต้องผ่าตัด

ในกรณีที่อาการเป็นมาก เช่น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดมาก ปวดร้าวลงขา ปวดแบบรุนแรงเดินไม่ได้ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน บวกกับมีผลทางกายภาพ เช่น หลังคด หลังงอ แบบนี้ก็จำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือมีการติดเชื้อ เช่น วัณโรค ถ้ามีการติดเชื้อรุนแรง เชื้อทำลายกระดูกมาก แบบนี้ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อคิดจากคุณหมอ
การผ่าตัด เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัว แต่หลายครั้งเพราะความกลัว แล้วปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป สุดท้ายเลยต้องมาลงเอยด้วยการผ่าตัด เพราะฉะนั้น อย่ากลัวการมาหาหมอ เพราะการมาหาหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มมีอาการจะช่วยทุเลาเบาบางได้ ทั้งระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่าย หากปวดหลังน้อยๆ แล้วรีบมาก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด และสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลังนั้น มาจากการใช้ชีวิตแบบผิดๆ เพราะฉะนั้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ งดสังคมก้มหน้าลงบ้าง แล้วหันมาคุยกับคนข้างๆ กันซักหน่อยหากดูแลตัวเองได้แบบนี้ ก็จะช่วยลดอาการปวดหลังไปได้มากแล้วล่ะครับ

ศ.เกียรติคุณ นพ. เจริญ โชติกวณิชย์

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
Diploma of American Board of Orthopaedic Surgery, 1972.
สาขาออร์โธปิดิกส์ สาขาออร์โธปิดิกส์

โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222

Facebook: Samitivej Club


วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด...อีกหนึ่งภาวะครรภ์เสี่ยงที่คุณควรรู้



สำหรับเรื่องของน้ำเดิน ปกติแล้วจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด แต่ถ้าเกิดมีน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์คลอด อันนี้ถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์กำลังอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดกัน

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดคืออะไร

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ทางการแพทย์เรียกว่า PROM (Premature rupture of membranes) หมายถึง ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกเองก่อนมีการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นขณะอายุครรภ์ครบกำหนดตั้งแต่ 37 สัปดาห์ (Term PROM) หรือ ก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด 37 สัปดาห์ (Preterm PROM) โดยภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดพบในช่วงอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 10% และก่อนอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 3% ของการคลอดบุตรทั้งหมด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

ถึงแม้สาเหตุพยาธิกำเนิดของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ โดยในรายๆ หลายอาจจะไม่พบสาเหตุที่เกี่ยวข้อง แต่พบว่ามีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่เกี่ยวข้องได้แก่
  1. ประวัติน้ำเดินก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน โดยเฉพาะก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด
  2. การติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอด ซึ่งพบว่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดจะสร้างสาร Phospholipase ซึ่งเป็นเอนไซม์อย่างหนึ่งที่กระตุ้นการสร้างสาร prostaglandins ซึ่งจะมีผลกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกตามมา และตัวเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปสู่บริเวณปากมดลูกและถุงน้ำคร่ำจะกระตุ้นให้มีการสร้าง inflammatory mediators หลายชนิด ทำให้เกิดการแตกของถุงน้ำคร่ำขึ้น
  3. ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด เช่นในรายที่คุณแม่มีประวัติเลือดออกในไตรมาสแรก โดยเฉพาะถ้ามีเลือดออกบ่อยๆ และในหลายๆ ช่วงของการตั้งครรภ์มากกว่าหนึ่งไตรมาส
  4. สูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงสูง 2-4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ตั้งครรภ์แฝดภาวะน้ำคร่ำมากเนื้องอกมดลูก, ประวัติเคยผ่าตัดปากมดลูก, ตรวจพบปากมดลูกสั้น, ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, รกเกาะต่ำรกลอกตัวก่อนกำหนดโลหิตจาง และตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดนั้น สิ่งที่แพทย์กังวลมากที่สุดก็คือเรื่องของการติดเชื้อของคุณแม่ ซึ่งจะเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งจะสัมพันธ์กับระยะเวลาตั้งแต่น้ำเดินจนถึงระยะคลอด โดยเฉพาะถ้าภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดเกิดก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด นอกจากทารกจะเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อที่รุนแรงและภาวะทุพพลภาพด้านพัฒนาการในระยะยาวแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด เช่น ภาวะหายใจยากลำบากจากปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า RDS (Respiratory distress syndrome) รวมถึงทารกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ส่งผลให้การทำงานของหัวใจและปอดของทารกผิดปกติอีกด้วย

การวินิจฉัยและการรักษาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

ก็จะเริ่มจากการซักประวัติว่าคนไข้มีอาการน้ำไหลออกจากช่องคลอดก่อนเข้าสู่ระยะคลอดบ้างหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกายเพื่อดูน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอด โดยแพทย์จะให้คนไข้ออกแรงไอหรือเบ่งก็จะเห็นน้ำไหลออกจากปากมดลูก ปกติแล้วแพทย์จะไม่ใช้วิธีตรวจภายในเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น จากนั้นก็จะส่งน้ำจากช่องคลอดนั้นเข้าตรวจในแล็บต่อไป หรืออาจจะใช้การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อใช้ร่วมในการประกอบการวินิจฉัย ส่วนการรักษาถ้าแพทย์ตรวจพบแล้วว่ามีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดซึ่งเป็นภาวะครรภ์เสี่ยงแล้ว แพทย์ก็จะให้คนไข้ admit จนกว่าจะคลอด แนวทางการดูแลรักษาก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องอายุครรภ์ การติดเชื้อของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาการเจ็บครรภ์ ท่าทางและการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ การเปิดของปากมดลูก โดยจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้วกำหนดแนวทางในการรักษาอีกครั้งหนึ่ง
การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรรู้ไว้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ล้วนมีผลต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม และคงไม่มีใครที่ต้องการจะตกอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ดังนั้น เมื่อคุณรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย

นพ. เทวินทร์ เดชเทวพร

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ปี พ.ศ.2545
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222

Facebook: Samitivej Club



วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

ทำไมต้องแพ้ท้อง




“คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อยากกินอะไรที่ไม่เคยกิน แต่อะไรที่เคยชอบกินกลับกินไม่ได้ เหม็นไปซะทุกสิ่ง” 
แน่นอนว่าเหล่านี้เป็นอาการของคนแพ้ท้อง 80-90% ของผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการแพ้ท้อง แต่จะแพ้มาก แพ้น้อยแตกต่างกันออกไป บางคนแค่วิงเวียน อาเจียนเล็กน้อย บางคนมากขึ้นมาหน่อยอาจจะอาเจียนมาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือในบางคนอาจแพ้มากอาเจียนตลอด กินไม่ได้ ถึงขั้นน้ำหนักลด จนบางครั้งต้องมานอนให้น้ำเกลือในโรงพยาบาลกันก็มี แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป แต่บางคนอาจแพ้ไปจนกระทั่งคลอดเลยก็มี อันนี้ก็ถือว่าต้องทรหดอดทนกันหน่อย ในขณะที่บางคนไม่แพ้ท้องเลยก็มี อันนี้ต้องบอกว่าเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ

ทำไมต้องแพ้

สาเหตุของอาการแพ้ท้องยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้น และเชื่อว่าบางส่วนอาจเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ทำให้สมดุลฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหรืออาจเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ช้าลง ย่อยยากขึ้น จึงรู้สึกอึดอัด มีลมในท้องมาก มีอาการท้องอืด ไม่สบายในท้องเพิ่มขึ้นได้

แพ้ท้องอันตรายไหม

คุณแม่ทั้งหลายต่างพากันกังวลใจว่าแพ้ท้องแล้วจะเป็นอันตรายกับลูกในท้องไหม โดยเฉพาะคนที่แพ้ท้องอย่างรุนแรง อาเจียนกันสนั่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลดกันไปที 3 กิโล 5 กิโล แบบนี้ลูกจะอยู่ยังไง แล้วเขาจะโตไหม สารพัดเรื่องกังวลใจ หมออยากจะบอกว่า คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลกันจนเกินไปนัก ถึงแม้จะแพ้ท้องกันจนน้ำหนักลด ลูกในท้องก็ยังอยู่ได้ปกติดี เพราะลูกจะดึงเอาสารอาหารจากในตัวคุณแม่มาใช้ซึ่งปริมาณอาหารจากแหล่งต่างๆ ในร่างกายของคุณแม่เพียงพอที่จะเลี้ยงลูก เพราะในช่วงไตรมาสแรก ลูกในท้องยังตัวเล็กมาก แค่ไม่กี่เซนติเมตร หรือประมาณแค่ปลายนิ้วเท่านั้นเอง จึงไม่ได้ใช้สารอาหารอะไรมากมาย ขอให้คุณแม่สบายใจได้

คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง

อาการแพ้ท้องไม่ใช่โรค มักจะเป็นมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่เมื่อผ่านพ้น 3 เดือนไปแล้วก็มักจะดีขึ้นได้เอง แต่ในระหว่างที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่ก็สามารถดูแลตัวเองได้หลากหลายวิธี ได้แก่
  • กินทีละน้อย เนื่องจากในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ระบบการทำงานของลำไส้จะทำงานได้ช้า ย่อยอาหารยาก หากรับประทานครั้งละมากๆ ร่างกายจะทำงานไม่ไหว ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นจึงควรกินทีละน้อย แต่อาศัยกินบ่อยๆ แทน
  • ยาบรรเทาอาการแพ้ท้อง สำหรับคุณแม่บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก การใช้ยาแก้แพ้ท้องก็จะช่วยระงับหรือบรรเทาอาการคลื่นไส้ให้ลดลงได้ ซึ่งยานี้มีทั้งแบบฉีดและรับประทาน โดยคุณหมอจะพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของคุณแม่ที่แพ้เป็นรายบุคคลไป แต่ยากลุ่มนี้รับประทานแล้วทำให้ง่วงนอน คุณแม่อาจไม่สามารถทำงานได้
  • ให้น้ำเกลือ ในกรณีที่คุณแม่แพ้อย่างรุนแรง จนทานอะไรไม่ได้ อาจจำเป็นต้องให้สารอาหารผ่านทางน้ำเกลือ ซึ่งอาจจะมีวิตามินหรือยาแก้แพ้ผสมเข้าไปด้วย เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ดูแลจิตใจ  อย่างที่ทราบกันดีว่าคนแพ้ท้อง มักจะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เพราะเหนื่อยและอ่อนเพลีย การดูแลทางด้านจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ สามีและครอบครัวควรให้กำลังใจ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องแล้วถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวมักจะทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้นได้

สามีแพ้ท้องแทนภรรยาได้จริงหรือ?

ในความเป็นจริง คุณพ่อไม่สามารถแพ้ท้องแทนคุณแม่ได้ เพราะว่าเป็นคนละคนกัน ฮอร์โมนก็ไม่เหมือนกัน แต่อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อนั้นเป็นเรื่องของความผูกพันทางด้านจิตใจมากกว่า เป็นความรู้สึกร่วมกัน สามีอาจจะเป็นห่วงภรรยามากจนทำให้ตัวเองเครียดไปด้วย เลยพาลมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมไปกับภรรยาด้วย
อาการแพ้ท้องเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะเป็นมากในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลกันมากนัก ทำจิตใจให้สบาย อย่าไปเครียด เพราะยิ่งเครียดก็ยิ่งมีอาการมาก เพียงแค่ดูแลตัวเองตามที่หมอแนะนำก็จะช่วยให้คุณแม่สบายใจ สบายกายได้มากขึ้นครับ



สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy)
อัลตราซาวนด์และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
วุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปีที่จบการศึกษา
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช 




วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปวดเข่า ควรทำอย่างไร?

ปวดข้อเข่า อย่าปล่อยนาน




หัวเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายและทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย อีกทั้งช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวสะดวกสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ หากข้อเข่ามีปัญหามีอาการปวดข้อเข่าขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวลำบากส่งผลกระทบมากมายต่อคุณภาพชีวิต หลายคนคงเคยได้ยินกับคำบ่นของคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ว่ามีอาการปวดข้อเข่า ปวดขาเวลาเดิน หรือเวลายืนนาน ๆก็ปวด อาการเหล่านี้บางคนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่แท้ที่จริงมีอันตรายมากมายที่ซ่อนอยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรปล่อยไว้นาน

สาเหตุของอาการปวดข้อเข่าคืออะไร

สาเหตุมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. เกิดจากอุบัติเหตุ จากการเล่นกีฬา ซึ่งอาการบาดเจ็บจากสาเหตุนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่โดยมากก็จะเป็นในคนอายุน้อยวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ความรุนแรงของสาเหตุนี้ก็เป็นได้ตั้งแต่เบาไปจนถึงหนัก เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หมอนรองกระดูกข้อเข่าขาด หรือ เส้นเอ็นฉีกขาด เป็นต้น มักจะมีอาการปวดข้อเข่าหรือข้อบวมทันทีภายหลังจากอุบัติเหตุ
  2. เกิดจากโรคข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น เก๊าท์ รูมาตอยด์ เป็นต้น โรครูมาตอยด์ เรายังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ส่วนโรคเก๊าท์เกิดจากการที่มีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ นอกจากโรคข้อแล้วกลุ่มนี้ยังรวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดด้วย ซึ่งการติดเชื้อนี้ก็สามารถทำให้ปวดข้อเข่าได้เช่นกัน
  3. เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อตามอายุ เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกสะสมมาเป็นเวลานาน เกิดความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า จนสึกหรอและบางลงเรื่อย ๆ เมื่อกระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมจนกระดูกบางลงมาก ๆ จะทำให้ปลายกระดูกของข้อเกิดการเสียดสีกันเกิดอาการเจ็บปวด กลุ่มนี้ก็จะพบได้ตั้งแต่คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการปวดข้อเข่าบ้าง

จริง ๆ แล้ววิถีชีวิตของคนไทยเรา ก็ส่งผลโดยตรงให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้อยู่แล้ว อย่างการนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ ท่าทางการนั่งเหล่านี้ก็มีผลต่อข้อเข่า บางคนต้องนั่งอยู่ในท่าทางแบบนี้นานๆอย่างนั่งสวดมนต์ ก็ทำให้เกิดปวดข้อเข่าขึ้นได้ อีกทั้งบางทียังมีพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ผิดๆ อีกอย่างบางคนมีน้ำหนักตัวมากอยู่แล้ว และต้องทำงานที่ต้องแบกหามหรือยกของหนักเป็นประจำ แบบนี้ก็จะทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อเข่าหนักขึ้น หรืออย่างในชีวิตประจำวันของบางคนต้องทำงานที่ตึกสูงประจำ และต้องเดินขึ้นบันไดเป็นส่วนมาก การก้าวเดินขึ้นที่สูงแบบนี้บ่อย ๆ ก็ส่งผลต่อเข่าได้เช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าทั้งสิ้น

ปวดข้อเข่าแบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์

  1. มีอาการปวดและไม่สามารถยืนหรือทิ้งน้ำหนักลงได้
  2. มีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรง และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. มีอาการข้อติดหรือข้อขัด เคลื่อนไหวข้อไม่เต็มที่
  4. มีการบวมและร้อนของข้อเข่าหรือบริเวณรอบๆข้อ

การรักษาอาการปวดข้อเข่าทำได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของการรักษา หมอก็จะทำการพิจารณาเป็นรายๆ ไป ดูจากสาเหตุและความหนักเบาของอาการถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน หมอก็จะให้หยุดพักการใช้ข้อเข่า อาจใช้ผ้ายืดพันเข่าไว้ถ้ามีอาการปวดเข่ามากเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นการชั่วคราว และให้คนไข้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ใช้เข่าน้อยลง

การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด และการใช้ยารักษา

รักษาด้วยกายภาพบำบัดอาจมีการประคบร้อนหรือเย็นช่วยด้วยก็ได้ บางรายก็จะให้รับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยซึ่งเป็นยาแก้ปวดทั่วไปไม่อันตรายต่อร่างกายนัก แต่ถ้าในรายที่มีอาการมานานเรื้อรังในกลุ่มสงสัยข้อเข่าเสื่อมก็จะมีการรักษาด้วยยา หมอจะให้ยารับประทานแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แต่ยากลุ่มนี้ก็จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง ยาบางตัวอาจจะส่งผลรบกวนต่อกระเพาะอาหารได้ การใช้ยาตรงนี้จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ ถ้าหายก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ถ้ารับประทานยาแล้วอาการปวดไม่บรรเทา ก็อาจรักษาด้วยยาฉีด ได้แก่ การฉีดสเตียรอยด์ และการฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic Acid) ซึ่งยาสเตียรอยด์ถ้าฉีดมากก็มีข้อเสีย เพราะสเตียรอยด์อาจส่งผลตรงกันข้ามคือไปกัดกร่อนกระดูกได้เหมือนกัน ส่วนการฉีดน้ำไขข้อเทียมส่วนมาก เราก็จะใช้ในกรณีที่คนไข้ข้อเข่าเสื่อม ฉีดเข้าไปเพื่อทดแทนน้ำเลี้ยงไขข้อเดิมที่เสื่อมคุณภาพจากอายุการใช้งานหรืออาจจะให้คนไข้รับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนเสริมเพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อเข่า

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

ซึ่งถ้ารักษาด้วยวิธีการทำกายภาพและรักษาด้วยยาทั้งหมดแล้วยังไม่หาย แพทย์จะพิจารณาเรื่องของการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนี้ก็สามารถทำได้หลายวิธีเช่นกัน ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากสาเหตุอาการปวดข้อเข่าคนไข้ด้วย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการผิวข้อเข่าเสื่อม และอายุของผู้ป่วยยังไม่มาก หมอก็อาจจะพิจารณาการผ่าตัดดัดเข่า เปลี่ยนจุดรับน้ำหนักของข้อเข่าเป็นการชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หรือในรายที่มีการฉีกขาดของกระดูกอ่อนก็จะใช้การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า (Arthroscopy)ในการรักษาหากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากในข้อเข่าเสื่อมมีการผิดรูปของข้อเข่าเช่น เข่าโก่งเข้าหรือโก่งออก หมอก็จะใช้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผลของการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

ทำอย่างไรให้ห่างไกลอาการปวดข้อเข่า

  1. ใช้เข่าให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้น การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งยอง ๆ ปรับเปลี่ยนนั่งเก้าอี้ที่มีความ สูงระดับเข่า การยกของหนักบ่อย ๆ การเดินหรือวิ่งขึ้นลงบันไดหรือขึ้นที่สูงชัน
  2. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  3. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเข่า
  4. ควรหมั่นทำการเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา (Quadricep) เพราะกล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงกระดูกข้อต่อและเอ็นเข่า ฉะนั้นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงจะช่วยแบ่งเบาการทำงานของข้อเข่าและเอ็น
ดังนั้นเราจะพบว่าอาการปวดข้อเข่าเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง และการรักษาก็มีมากมายปรับเปลี่ยนไปตามสาเหตุและอาการที่เป็น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจกับการดูแลเข่าของเราเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะเข่าของเรารับภาระที่หนักมาโดยตลอดถ้าเราไม่ใส่ใจดูแลเข่าเสียบ้าง ข้อเข่าอาจจะน้อยใจและพาลจะไม่ทำหน้าที่ประคองน้ำหนักร่างกายของเราอีกต่อไป คือ ข้อเข่าอาจจะเสื่อมเร็วขึ้นจนใช้งานเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว การดูแลข้อเข่าจึงเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจอย่างยิ่ง ถ้าคุณเริ่มมีอาการปวดข้อเข่า ก็อย่าปล่อยเอาไว้นานควรรีบไปพบแพทย์ทำการรักษาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆเพื่อเป็นการถนอมรักษาข้อเข่าของเราไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2516
สาขาออร์โธปิดิกส์ สาขาออร์โธปิดิกส์



วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลูกปวดท้อง ท้องอืดไม่ทราบสาเหตุ ?


อาการท้องอืดของเด็กๆ  เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเรื่องของโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณก๊าซในกระเพาะอาหารและลำไส้มากเกินไป  ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ  เช่น เรอบ่อย  อึดอัดแน่นท้องโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ท้องโตเป็นพักๆ ผายลมบ่อย เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้เช่นกัน  ถ้ารับประทานอาหารปริมาณมากและเร็วเกินไป หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีก๊าซ  อาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเรื้อรัง ไม่สัมพันธ์กับชนิดอาหารก็มี  หรือมีความรุนแรง เช่น มีอาการมากจนทำให้รับประทานอาหารน้อยลง

อาการของเด็กๆ ที่สามารถสังเกตุได้ มีดังนี้

  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักขึ้นน้อย
  • ท้องผูก
  • มีกลิ่นปาก
  • ผายลมเหม็น

สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะท้องอืดเรื้อรังเกิดจาก 3 ภาวะ ได้แก่

  • ปริมาณแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน
  • ภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม
  • โรคลำไส้แปรปรวน
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างเจาะลึกเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร

การตรวจวัดลมหายใจเพื่อหาความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร Hydrogen breath test

สามารถรู้สาเหตุที่แท้จริงให้เด็กๆ ได้แบบ ตรงจุด ตรวจง่าย หายเร็ว

ปัจจุบันการตรวจไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนและให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน สำหรับการตรวจหาสาเหตุของโรคท้องอืดเรื้อรัง จะใช้วิธีการตรวจด้วย เครื่องตรวจลมหายใจ (Breath test) อาศัยหลักการตรวจหาก๊าซที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งจะซึมผ่านเข้ากระแสเลือดและปล่อยออกทางลมหายใจ โดยก๊าซที่ตรวจนั้น ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน

ขั้นตอนการตรวจ

งดอาหารและน้ำก่อน 12 ชั่วโมง จากนั้นให้รับประทานสารที่ใช้ในการตรวจแยกโรค ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุที่แพทย์สงสัย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสงสัยภาวะขาดเอนไซม์ย่อยนม ก็จะให้กินน้ำตาลแลคโตส แต่ถ้าสงสัยภาวะแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน ก็จะให้กินน้ำตาลกลูโคสหรือสารแลคตูโลส เป็นต้น จากนั้นจะให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจใส่ในถุงตรวจ ทุกๆ 15 นาที จนครบ 120 นาที แพทย์นำผลมาวิเคราะห์ต่อ

การทดสอบสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป   (โดยเฉพาะเด็กท้องอืดมาก น้ำหนักไม่ขึ้น  เด็กๆที่ขาดวิตามิน ทุกอายุ)

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ระวัง…โรคไข้เลือดออก

ระวัง…โรคไข้เลือดออก



มีรายงานผู้ป่วยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,553 ราย เสียชีวิต 3 ราย (!) การกระจายการเกิดโรคพบว่าภาคใต้มีอัตราป่วยสูงที่สุด เท่ากับ 147.71 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ อัตราป่วย 102.75 ต่อประชากรแสนคน ภาคกลาง อัตราป่วย 71.49 ต่อประชากรแสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 70.39 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : Manager Online http://www.manager.co.th/UpToDate/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121036 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559

เนื่องด้วยความรุนแรงของสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกขณะนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเฝ้าระวัง ให้ความใส่ใจ และดูแลป้องกันอย่างใกล้ชิด โรงพยาบาลสมิติเวช จึงนำบทความน่าสนใจและควรรู้ มาฝากทุกท่าน เพื่อช่วยป้องกัน ดูแล และเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย

อาการ และการรักษาโรคไข้เลือดออก

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี่ (dengue fever หรือ DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและถึงเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ

เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลังดังนี้

1.    ไข้สูงลอย 2-7 วัน
2.    มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3.    มีตับโต กดเจ็บ
4.    มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว ภาวะช็อก อาการไข้ ผู้ ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) และตรวจดูคอก็อาจพบมี injected pharynx ได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคหัดในระยะแรกและโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไปและอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน และบางรายไข้จะเป็นแบบ biphasic ได้ อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้

อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุด

คือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย โดยการทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อกในรายที่มีภาวะช็อก อยู่นาน

ตับโต ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ ภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงโดยมี pulse pressure แคบเท่ากับหรือน้อยกว่า 20 มม.ปรอท (ปกติ 30-40 มม.ปรอท) ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกส่วนใหญ่จะมีความรู้สติ พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นอย่างกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นภาวะทางศัลยกรรม ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง รอบปากเขียว ผิวสีม่วงๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและวัดความดันไม่ได้ (profound shock) ความรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีภาวะช็อก หากว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาช็อกอย่างทันท่วงทีและถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ ระยะ profound shock ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อยร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของ ชีพจรและความดันเลือด ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการไหลเวียนของเลือด เนื่องจากการรั่วของพลาสมาออกไปแต่ไม่มากจนทำให้เกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะ นี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งได้ผลดีถ้าให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมี nursing care ที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา

การดูแลรักษาผู้ป่วย

1.    ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญอาจทำให้เกิด Reye syndrome ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้น (เพื่อให้ไข้ที่สูงมากลดลงเหลือน้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส) การใช้ยาลดไข้มากไปจะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ ควรจะใช้การเช็ดตัวช่วยลดไข้ด้วย
2.    ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียมด้วย ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือ สารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อยๆ และดื่มบ่อยๆ
3.    จะต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ช็อกมักจะเกิดพร้อมกับไข้ลดลงประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาที่เป็นไข้ ถ้าไข้ 7 วันก็อาจช็อกวันที่ 8 ได้ ควรแนะนำให้พ่อแม่ทราบอาการนำของช็อก ซึ่งอาจจะมีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างกะทันหัน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ควรแนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเหล่านี้
4.    เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกร็ดเลือดและ hematocrit และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกร็ดเลือดเริ่มลดลงและ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องชี้บ่งว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
5.    โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ยังมีไข้ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้ยาไปรับประทาน และแนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าสังเกตอาการตามข้อ 3 หรือแพทย์นัดให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ โดยตรวจดูการเปลี่ยนแปลงตามข้อ 4 ถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดงอาการช็อก ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย และถือเป็นเรื่องรีบด่วนในการรักษา

การป้องกัน


ศ.คลินิก เกียรติคุณ เสน่ห์ เจียสกุล
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์
สาขากุมารเวชศาสตร์ อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222
Facebook: Samitivej Club