วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

ปวดหลังไม่ไปหาหมอ..เพราะกลัวต้องผ่าตัด


“ปวดหลัง ไม่ไปหาหมอ เพราะกลัวต้องผ่าตัด” เป็นความรู้สึกลึก ๆ ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลงได้
ร้อยละ 80 ของคนที่ปวดหลัง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาและกายภาพบำบัด แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด คิดว่าถ้าปวดหลัง สุดท้ายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เลยไม่ยอมมาหาหมอ ปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนโรคเรื้อรัง ลุกลามแล้วค่อยมาพบแพทย์
อาการปวดหลังมีหลายสาเหตุ อยู่ที่การใช้งาน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนนั้นๆ สมัยก่อนใครปวดหลังบอกว่าเป็นอาการของคนแก่ เพราะทำงานหนัก ยกของหนัก มานาน พออายุมากขึ้นก็ปวดหลัง
แต่ปัจจุบัน คนวัยทำงาน หนุ่มๆ สาวๆ ก็ปวดหลังกันไม่น้อยเพราะการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง วันๆ นั่งจุ้มปุ๊กอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ ว่างจากคอมพิวเตอร์ก็กดโทรศัพท์ เป็นสังคมก้มหน้า ซึ่งของแถมตามมาคือ อาการปวดคอร่วมด้วย

ปวดหลังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย

ในชีวิตคนเราเชื่อว่าทุกคนน่าจะต้องเคยปวดหลัง ซึ่งการรักษาอาการปวดหลัง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกรายเสมอไป แล้วแต่โรคที่เป็นและอาการว่ามากแค่ไหนถ้าเป็นอาการปวดหลัง ที่ไม่มีตัวโรคชัดเจน เช่น ปวดกล้ามเนื้อเฉียบพลัน หรือ ปวดหลังจากการทำงาน สามารถรักษาได้ด้วยการทานยา และกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่สามารถหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
แต่หลังจากนั้นก็อยู่ที่การดูแลตัวเองกันแล้ว ว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงานกันได้แค่ไหน ถ้ายังใช้กันแบบเดิม อาการปวดหลังก็กลับมาอีกได้ เพราะอาการปวดหลังในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการใช้งานที่ผิดที่ผิดทางแล้วก็ทำซ้ำๆ เดิมๆ เวลาคนไข้มาหาคุณหมอ คุณหมอจะต้องดูก่อนเลยว่า
  •  ทำงานอะไร
  •  ใช้คอมพิวเตอร์วันละกี่ชั่วโมง
  •  นอนดูทีวีหรือไม่
  •  สูบบุหรี่หรือไม่
  •  อ้วนเกินไปหรือเปล่า
ใครทำงานหนักก็ต้องหยุดพักบ้าง ใครนั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ก็ลุกขึ้นมาขยับแข้งขยับขากันบ้าง ใครที่ชอบนอนตะแคงดูทีวี ก็ขอให้นั่งดูให้ถูกวิธี ใครที่สูบบุหรี่ก็ควรงด ใครอ้วนก็ต้องลดน้ำหนัก การรักษาต้องทำควบคู่กันไปหลายอย่างถึงจะได้ผลดี
สำหรับคนที่ปวดหลังชนิดที่มีภาวะของโรคในกระดูกสันหลังชัดเจน เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือ กระดูกเคลื่อน หากเป็นไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเช่นกัน สามารถใช้การรักษาทางยาและกายภาพบำบัดได้ ในกรณีที่เป็นโรคดังกล่าวถ้าไม่หายด้วยยาและกายภาพบำบัด ร้อยละ 20 อาจต้องผ่าตัดรักษา
การทานยาช่วยบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ช่วยให้ร่างกายสามารถปรับตัวอยู่กับกระดูกที่เสื่อมหรือเคลื่อนไปในตำแหน่งใหม่ได้โดยไม่ปวด

กรณีที่ต้องผ่าตัด

ในกรณีที่อาการเป็นมาก เช่น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดมาก ปวดร้าวลงขา ปวดแบบรุนแรงเดินไม่ได้ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน บวกกับมีผลทางกายภาพ เช่น หลังคด หลังงอ แบบนี้ก็จำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือมีการติดเชื้อ เช่น วัณโรค ถ้ามีการติดเชื้อรุนแรง เชื้อทำลายกระดูกมาก แบบนี้ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อคิดจากคุณหมอ
การผ่าตัด เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัว แต่หลายครั้งเพราะความกลัว แล้วปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป สุดท้ายเลยต้องมาลงเอยด้วยการผ่าตัด เพราะฉะนั้น อย่ากลัวการมาหาหมอ เพราะการมาหาหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มมีอาการจะช่วยทุเลาเบาบางได้ ทั้งระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่าย หากปวดหลังน้อยๆ แล้วรีบมาก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด และสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลังนั้น มาจากการใช้ชีวิตแบบผิดๆ เพราะฉะนั้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ งดสังคมก้มหน้าลงบ้าง แล้วหันมาคุยกับคนข้างๆ กันซักหน่อยหากดูแลตัวเองได้แบบนี้ ก็จะช่วยลดอาการปวดหลังไปได้มากแล้วล่ะครับ

ศ.เกียรติคุณ นพ. เจริญ โชติกวณิชย์

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
Diploma of American Board of Orthopaedic Surgery, 1972.
สาขาออร์โธปิดิกส์ สาขาออร์โธปิดิกส์

โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222

Facebook: Samitivej Club


วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด...อีกหนึ่งภาวะครรภ์เสี่ยงที่คุณควรรู้



สำหรับเรื่องของน้ำเดิน ปกติแล้วจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด แต่ถ้าเกิดมีน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์คลอด อันนี้ถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์กำลังอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดกัน

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดคืออะไร

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ทางการแพทย์เรียกว่า PROM (Premature rupture of membranes) หมายถึง ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกเองก่อนมีการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นขณะอายุครรภ์ครบกำหนดตั้งแต่ 37 สัปดาห์ (Term PROM) หรือ ก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด 37 สัปดาห์ (Preterm PROM) โดยภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดพบในช่วงอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 10% และก่อนอายุครรภ์ครบกำหนดประมาณ 3% ของการคลอดบุตรทั้งหมด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

ถึงแม้สาเหตุพยาธิกำเนิดของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ โดยในรายๆ หลายอาจจะไม่พบสาเหตุที่เกี่ยวข้อง แต่พบว่ามีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่เกี่ยวข้องได้แก่
  1. ประวัติน้ำเดินก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน โดยเฉพาะก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด
  2. การติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอด ซึ่งพบว่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดจะสร้างสาร Phospholipase ซึ่งเป็นเอนไซม์อย่างหนึ่งที่กระตุ้นการสร้างสาร prostaglandins ซึ่งจะมีผลกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกตามมา และตัวเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปสู่บริเวณปากมดลูกและถุงน้ำคร่ำจะกระตุ้นให้มีการสร้าง inflammatory mediators หลายชนิด ทำให้เกิดการแตกของถุงน้ำคร่ำขึ้น
  3. ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด เช่นในรายที่คุณแม่มีประวัติเลือดออกในไตรมาสแรก โดยเฉพาะถ้ามีเลือดออกบ่อยๆ และในหลายๆ ช่วงของการตั้งครรภ์มากกว่าหนึ่งไตรมาส
  4. สูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงสูง 2-4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ตั้งครรภ์แฝดภาวะน้ำคร่ำมากเนื้องอกมดลูก, ประวัติเคยผ่าตัดปากมดลูก, ตรวจพบปากมดลูกสั้น, ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, รกเกาะต่ำรกลอกตัวก่อนกำหนดโลหิตจาง และตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดนั้น สิ่งที่แพทย์กังวลมากที่สุดก็คือเรื่องของการติดเชื้อของคุณแม่ ซึ่งจะเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งจะสัมพันธ์กับระยะเวลาตั้งแต่น้ำเดินจนถึงระยะคลอด โดยเฉพาะถ้าภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดเกิดก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด นอกจากทารกจะเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อที่รุนแรงและภาวะทุพพลภาพด้านพัฒนาการในระยะยาวแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด เช่น ภาวะหายใจยากลำบากจากปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า RDS (Respiratory distress syndrome) รวมถึงทารกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ส่งผลให้การทำงานของหัวใจและปอดของทารกผิดปกติอีกด้วย

การวินิจฉัยและการรักษาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

ก็จะเริ่มจากการซักประวัติว่าคนไข้มีอาการน้ำไหลออกจากช่องคลอดก่อนเข้าสู่ระยะคลอดบ้างหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกายเพื่อดูน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอด โดยแพทย์จะให้คนไข้ออกแรงไอหรือเบ่งก็จะเห็นน้ำไหลออกจากปากมดลูก ปกติแล้วแพทย์จะไม่ใช้วิธีตรวจภายในเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น จากนั้นก็จะส่งน้ำจากช่องคลอดนั้นเข้าตรวจในแล็บต่อไป หรืออาจจะใช้การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อใช้ร่วมในการประกอบการวินิจฉัย ส่วนการรักษาถ้าแพทย์ตรวจพบแล้วว่ามีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดซึ่งเป็นภาวะครรภ์เสี่ยงแล้ว แพทย์ก็จะให้คนไข้ admit จนกว่าจะคลอด แนวทางการดูแลรักษาก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องอายุครรภ์ การติดเชื้อของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาการเจ็บครรภ์ ท่าทางและการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ การเปิดของปากมดลูก โดยจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้วกำหนดแนวทางในการรักษาอีกครั้งหนึ่ง
การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรรู้ไว้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ล้วนมีผลต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม และคงไม่มีใครที่ต้องการจะตกอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ดังนั้น เมื่อคุณรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย

นพ. เทวินทร์ เดชเทวพร

ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ปี พ.ศ.2545
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

โรงพยาบาลสมิติเวช 020-222-222

Facebook: Samitivej Club



วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

ทำไมต้องแพ้ท้อง




“คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อยากกินอะไรที่ไม่เคยกิน แต่อะไรที่เคยชอบกินกลับกินไม่ได้ เหม็นไปซะทุกสิ่ง” 
แน่นอนว่าเหล่านี้เป็นอาการของคนแพ้ท้อง 80-90% ของผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการแพ้ท้อง แต่จะแพ้มาก แพ้น้อยแตกต่างกันออกไป บางคนแค่วิงเวียน อาเจียนเล็กน้อย บางคนมากขึ้นมาหน่อยอาจจะอาเจียนมาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือในบางคนอาจแพ้มากอาเจียนตลอด กินไม่ได้ ถึงขั้นน้ำหนักลด จนบางครั้งต้องมานอนให้น้ำเกลือในโรงพยาบาลกันก็มี แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป แต่บางคนอาจแพ้ไปจนกระทั่งคลอดเลยก็มี อันนี้ก็ถือว่าต้องทรหดอดทนกันหน่อย ในขณะที่บางคนไม่แพ้ท้องเลยก็มี อันนี้ต้องบอกว่าเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ

ทำไมต้องแพ้

สาเหตุของอาการแพ้ท้องยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้น และเชื่อว่าบางส่วนอาจเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ทำให้สมดุลฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหรืออาจเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ช้าลง ย่อยยากขึ้น จึงรู้สึกอึดอัด มีลมในท้องมาก มีอาการท้องอืด ไม่สบายในท้องเพิ่มขึ้นได้

แพ้ท้องอันตรายไหม

คุณแม่ทั้งหลายต่างพากันกังวลใจว่าแพ้ท้องแล้วจะเป็นอันตรายกับลูกในท้องไหม โดยเฉพาะคนที่แพ้ท้องอย่างรุนแรง อาเจียนกันสนั่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลดกันไปที 3 กิโล 5 กิโล แบบนี้ลูกจะอยู่ยังไง แล้วเขาจะโตไหม สารพัดเรื่องกังวลใจ หมออยากจะบอกว่า คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลกันจนเกินไปนัก ถึงแม้จะแพ้ท้องกันจนน้ำหนักลด ลูกในท้องก็ยังอยู่ได้ปกติดี เพราะลูกจะดึงเอาสารอาหารจากในตัวคุณแม่มาใช้ซึ่งปริมาณอาหารจากแหล่งต่างๆ ในร่างกายของคุณแม่เพียงพอที่จะเลี้ยงลูก เพราะในช่วงไตรมาสแรก ลูกในท้องยังตัวเล็กมาก แค่ไม่กี่เซนติเมตร หรือประมาณแค่ปลายนิ้วเท่านั้นเอง จึงไม่ได้ใช้สารอาหารอะไรมากมาย ขอให้คุณแม่สบายใจได้

คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง

อาการแพ้ท้องไม่ใช่โรค มักจะเป็นมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่เมื่อผ่านพ้น 3 เดือนไปแล้วก็มักจะดีขึ้นได้เอง แต่ในระหว่างที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่ก็สามารถดูแลตัวเองได้หลากหลายวิธี ได้แก่
  • กินทีละน้อย เนื่องจากในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ระบบการทำงานของลำไส้จะทำงานได้ช้า ย่อยอาหารยาก หากรับประทานครั้งละมากๆ ร่างกายจะทำงานไม่ไหว ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นจึงควรกินทีละน้อย แต่อาศัยกินบ่อยๆ แทน
  • ยาบรรเทาอาการแพ้ท้อง สำหรับคุณแม่บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก การใช้ยาแก้แพ้ท้องก็จะช่วยระงับหรือบรรเทาอาการคลื่นไส้ให้ลดลงได้ ซึ่งยานี้มีทั้งแบบฉีดและรับประทาน โดยคุณหมอจะพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของคุณแม่ที่แพ้เป็นรายบุคคลไป แต่ยากลุ่มนี้รับประทานแล้วทำให้ง่วงนอน คุณแม่อาจไม่สามารถทำงานได้
  • ให้น้ำเกลือ ในกรณีที่คุณแม่แพ้อย่างรุนแรง จนทานอะไรไม่ได้ อาจจำเป็นต้องให้สารอาหารผ่านทางน้ำเกลือ ซึ่งอาจจะมีวิตามินหรือยาแก้แพ้ผสมเข้าไปด้วย เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ดูแลจิตใจ  อย่างที่ทราบกันดีว่าคนแพ้ท้อง มักจะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เพราะเหนื่อยและอ่อนเพลีย การดูแลทางด้านจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ สามีและครอบครัวควรให้กำลังใจ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องแล้วถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวมักจะทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้นได้

สามีแพ้ท้องแทนภรรยาได้จริงหรือ?

ในความเป็นจริง คุณพ่อไม่สามารถแพ้ท้องแทนคุณแม่ได้ เพราะว่าเป็นคนละคนกัน ฮอร์โมนก็ไม่เหมือนกัน แต่อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อนั้นเป็นเรื่องของความผูกพันทางด้านจิตใจมากกว่า เป็นความรู้สึกร่วมกัน สามีอาจจะเป็นห่วงภรรยามากจนทำให้ตัวเองเครียดไปด้วย เลยพาลมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมไปกับภรรยาด้วย
อาการแพ้ท้องเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะเป็นมากในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลกันมากนัก ทำจิตใจให้สบาย อย่าไปเครียด เพราะยิ่งเครียดก็ยิ่งมีอาการมาก เพียงแค่ดูแลตัวเองตามที่หมอแนะนำก็จะช่วยให้คุณแม่สบายใจ สบายกายได้มากขึ้นครับ



สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy)
อัลตราซาวนด์และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ปริญญาบัตร/วุฒิบัตร
วุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปีที่จบการศึกษา
สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช